กระทรวงการคลังเร่งปล่อยสินเชื่อจังหวัดชายแดนภาคใต้และช่วยนักศึกษามุสลิม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 18, 2009 11:51 —กระทรวงการคลัง

“นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบายธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยเร่งปล่อยสินเชื่อจังหวัดชายแดนภาคใต้ และช่วยนักศึกษามุสลิมทั้งประเทศให้ได้รับสินเชื่ออย่างทั่วถึง”

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางตรวจเยี่ยมธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ในวันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมอบนโยบายให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. เร่งปล่อยสินเชื่อให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี รวมทั้งสงขลาบางอำเภอ ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบและปัญหาเศรษฐกิจโลก จึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นพิเศษ และกระทรวงการคลังมีนโยบายบรรเทาปัญหาผู้ประกอบการและพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยตั้งเป้าหมายช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ (Islamic microfinance) ตลอดจนผู้ประกอบการทั่วไป สหกรณ์ออมทรัพย์อิสลาม ธุรกิจ Contract farming เทศบาลและองค์กรในท้องถิ่น และให้ธนาคารติดตามให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่น ให้คำปรึกษาทางการเงินและการลงทุน อย่างใกล้ชิด

2. การช่วยเหลือนักศึกษามุสลิมให้ได้สินเชื่ออย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงการคลัง โดยที่มีนักศึกษามุสลิมจำนวนมากไม่มีช่องทางเข้าหาแหล่งเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ถูกต้องตามหลักศาสนา และยังไม่มีการให้สินเชื่อเพื่อการศึกษาตามหลักศาสนาอิสลามอย่างเป็นระบบ กระทรวงการคลังจึงมีนโยบายให้ธนาคารอิสลามเป็นเป็นองค์กรหลักในการจัดทำฐานข้อมูลและแนวทางในการให้สินเชื่อเพื่อการศึกษาดังกล่าว ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เร่งให้ธนาคารอิสลาม หารือกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาและธนาคารกรุงไทย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางในการดำเนินการดังกล่าว ให้สินเชื่อทั่วถึงนักศึกษามุสลิมและสถานศึกษาทั้งประเทศที่มีความต้องการสินเชื่อดังกล่าว

3. ขยายบทบาทการสนับสนุนสินเชื่อผู้ส่งออก เพิ่มบทบาทการสนับสนุนการทำธุรกิจและการส่งออกของนักธุรกิจไทย โดยเฉพาะธุรกิจการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารตามหลักศาสนาอิสลาม หรือฮาลาล โดยสนับสนุนให้ครบวงจรทั้งสินเชื่อแบบครบวงจร การให้คำปรึกษาทั้งทางการเงิน การค้าและการลงทุน และการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ให้เร่งดำเนินการความร่วมมือระหว่างธนาคารอิสลาม ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยเหลือผู้ส่งออกอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตจนถึงการจำหน่าย โดยเฉพาะการช่วยด้านการตลาด ทั้งนี้สินค้าฮาลาลของโลกต่อปี มีมูลค่า 6 — 8 ล้านล้านบาท โดยประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดเพียงร้อยละ 1 — 2 จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยมาก

4. เป็นศูนย์กลางในการดึงดูดเงินทุนจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน โดยธนาคารมีความพิเศษที่ดำเนินธุรกรรมอย่างถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ควรใช้ศักยภาพนี้ในการช่วยหาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเศรษฐกิจ ต้องเร่งดำเนินการออกพันธบัตรอิสลาม (Islamic Bonds or SUKUK) วงเงิน 1.75 หมื่นล้านบาท หรือ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าธนาคารอิสลามมีบทบาทพิเศษในการให้สินเชื่ออย่างถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ต้องเป็นองค์กรนำในการให้สินเชื่อการศึกษากับนักศึกษามุสลิมที่ต้องการสินเชื่อที่ถูกต้องตามหลักศาสนา และควรเร่งช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบในจังหวัดชายแดนภาคใต้และผู้ประกอบการในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศมุสลิม โดยเฉพาะขณะนี้ ผู้ประกอบการจำนวนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังขาดสภาพคล่อง มีความต้องการสินเชื่อ ธนาคารอิสลามต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ต้องมีความเป็นมืออาชีพ คำนึงถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ของธนาคารอิสลามอย่างรอบคอบ

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย

โทร. 02-0-2650-6999

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 20/2552 18 กุมภาพันธ์ 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ