รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 19, 2009 12:50 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 ก.พ. 2552

SUMMARY:

1. นายกฯ ห่วงค่าเงินบาท สั่ง ธปท. จับตาใกล้ชิด

2. สถาบันอาหารหั่นเป้าส่งออกปี 52 ลงร้อยละ 7.0

3. GDP ไต้หวัน Q4 ปี 51 หดตัวร้อยละ -8.4 ต่อปี ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

HIGHLIGHT:
1. นายกฯ ห่วงค่าเงินบาท สั่ง ธปท. จับตาใกล้ชิด
  • นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจเศรษฐกิจได้รับทราบสถานการณ์ค่าเงินบาท ซึ่งได้พิจารณามูลค่าที่แท้จริงจากฐานอัตราเงินเฟ้อ โดยอิงน้ำหนักค่าเงินกับประเทศคู่ค้าว่าความเคลื่อไหวค่าเงินบาทระหว่างวันที่ 11 — 17 ก.พ. ที่ผ่านมา อ่อนค่าลงประมาณร้อยละ 0.8 ซึ่งถือว่าน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค โดยมองว่าแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วง 2 ปีข้างหน้าจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากหากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าลดลงร้อยละ 1 ต่อปี จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยให้ลดลงร้อยละ 1.6 ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นการกระทบต่อภาคส่งออกของไทยอย่างมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ล้วนต้องการให้ค่าเงินสกุลท้องถิ่นอ่อนค่าลงเพื่อกระตุ้นการส่งออก ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์นี้ประเทศที่ค่าเงินอ่อนลงน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ จะเสียเปรียบโดยเปรียบเทียบเช่นกัน และภายใต้สถานการณ์เงินเฟ้อติดลบ การอ่อนค่าของเงินบาทจะไม่เกิดผลเสียแต่อย่างใด ทั้งนี้ จาก Macro Model พบว่า หากค่าเงินบาทอ่อนลง 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะกระตุ้น GDP ได้ร้อยละ 0.3 ต่อปี จากกรณีฐาน
2. สถาบันอาหารหั่นเป้าส่งออกปี 52 ลงร้อยละ 7.0
  • ผู้อำนวยสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารได้ปรับลดเป้ามูลค่าส่งออกอาหารไทยในปี 52 จาก 7.6 แสนล้านบาท เหลือเพียง 7.24 แสนล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปี 51 เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั่วโลกต้องใช้กลยุทธ์ตัดราคาสินค้าเพื่อรักษาตลาด รวมทั้งการที่ผู้บริโภคลดความจำเป็นในการบริโภคอาหารที่ไม่จำเป็นหรือฟุ่มเฟือยลงไปด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงและรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ความต้องการสินค้าลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น่าจะยังคงขยายตัวได้ดีและเป็นโอกาสของการส่งออกและการผลิตของไทย เพราะคนหันมาซื้อไปบริโภคที่บ้านแทนที่จะไปบริโภคนอกบ้านซึ่งแพงกว่า ทั้งนี้ ในปี 52 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.6 ของมูลค่าส่งออกรวม
3. GDP ไต้หวัน Q4 ปี 51 หดตัวร้อยละ -8.4 ต่อปี ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
  • เศรษฐกิจไต้หวันในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 หดตัวร้อยละ -8.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งต่ำสุดในประวัติการณ์ ทำให้เศรษฐกิจไต้หวันในปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 0.1 สาเหตุของการหดตัวในไตรมาส 4 ของปี 2551 มาจากการส่งออก และการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวลงมาก ซึ่งในไตรมาสที่ 4 นี้ ในด้านอุปทานภาคอุตสาหกรรมของไต้หวันหดตัวถึงร้อยละ -20.2 ต่อปี ตามการชะลอตัวของคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมจากทั่วโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การหดตัวของเศรษฐกิจไต้หวันในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 ที่ร้อยละ -8.4 ต่อปี เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปี 2551 ที่ร้อยละ -1.1 ต่อปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไต้หวันเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยด้านอุปสงค์ภายในประเทศ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนหดตัวร้อยละ -1.7 และ -23.2 ต่อปี ตามลำดับ การส่งออกสินค้าและบริการหดตัวร้อยละ -19.8 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ