รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเรียกประชุมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เบิกงบประมาณไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ถ้าภายในกรกฎาคมนี้ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณของปี 2552 ได้หมด ก็ไม่ให้กันเงินไว้ใช้ปีหน้า
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ครั้งที่ 1/2552 ในวันพฤหัสที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 ณ กรมสรรพสามิต ว่า จากการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ผลการเบิกจ่ายเงินตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552 ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เบิกจ่ายไปแล้ว 620,695 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.83 ของวงเงินงบประมาณ (1,835,000 ล้านบาท) เป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ จำนวน 525,101.45 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.44 ของรายจ่ายประจำ 1,481,845 ล้านบาท สำหรับรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้ 95,593 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.07 ของรายจ่ายลงทุน 353,155 ล้านบาท
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวต่อว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกรณ์ จาติกวณิช) ได้ให้นโยบายว่า “ในการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการต่างๆ นั้น ขณะนี้ได้มีการหารือกันว่า หากไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ทางรัฐบาลจะไม่อนุญาตให้มีการตั้งงบเหลื่อมปี แต่จะตัดงบที่ขอไว้ทั้งหมด เพื่อให้ทุกฝ่ายเร่งรัดเบิกจ่ายให้ทันตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และช่วยแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา” พร้อมทั้งจะประสานสำนักงบประมาณให้พิจารณาลดวงเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2553
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวว่า ในการประชุมเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ได้รับงบประมาณสูง แต่มีผลการเบิกจ่ายต่ำ ดังนี้
1. มีส่วนราชการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 21 แห่ง โดยมีส่วนราชการที่มีผลการเบิกจ่ายต่ำสุด ดังนี้ กรมราชทัณฑ์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีผลการเบิกจ่ายคิดเป็นร้อยละ 0.35 0.97 1.44 และ 2.90 ตามลำดับ และเมืองพัทยายังไม่มีการเบิกจ่ายเลย
2. รัฐวิสาหกิจที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค การเคหะแห่งชาติ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทย โดย 2 หน่วยงานหลังยังไม่มีการเบิกจ่ายเลยเช่นกัน
3. สำหรับงบประมาณรายจ่ายอื่น ส่วนราชการที่ได้รับจัดสรรงบสูงสุด ได้แก่ กระทรวงกลาโหม เป็นเงินจำนวน 76,668 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.18 ของรายจ่ายภาพรวม จำนวน 1,835,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกองทัพบก กองทัพเรือ เบิกจ่ายได้เพียงร้อยละ 7.5 และ 8.2 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับ 34,741 และ 15,931 ล้านบาท ตามลำดับ
หลังจากนี้ได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางเร่งรัดหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นให้มีการเบิกจ่ายให้มากขึ้น รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ด้วย ซึ่งหากยังไม่มีการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายก็จะดำเนินการตามมาตรการข้างต้นอย่างเข้มงวดต่อไป
สำนักบริหารการรับ — จ่ายเงินภาครัฐ กรมบัญชีกลาง
โทร. 0-2273-9579
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 21/2552 19 กุมภาพันธ์ 52--