รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 23, 2009 14:35 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 ก.พ. 2552

SUMMARY:

1. พาณิชย์เผย บริษัทเลิกกิจการ เดือนม.ค.52 สูงถึงร้อยละ 53 ต่อปี

2. สหรัฐวางแผนลดการขาดดุลงบประมาณภายใน 4 ปี

3. สหรัฐประกาศรายละเอียดแผนช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย

HIGHLIGHT:
1. พาณิชย์เผย บริษัทเลิกกิจการ เดือนม.ค.52 สูงถึงร้อยละ 53 ต่อปี
  • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สรุปยอดจดทะเบียนก่อตั้งและยกเลิก บริษัทนิติบุคคลประจำเดือนม.ค.52 มีบริษัทเลิกจดทะเบียน 1,307 ราย รวมเงินจดทะเบียน 3,373 ล้านบาท แบ่งเป็นเขตกทม. 459 ราย และต่างจังหวัด 848 ราย ซึ่งเป็นการเลิกจ้างกิจการเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ยกเลิก 850 ราย หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 53.7 ต่อปี โดยประเภทธุรกิจที่ที่เลิกกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจด้านบริการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดการยกเลิกจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้นในม.ค. ถือเป็นสัญญาณผิดปกติ เนื่องจากช่วงต้นปีปกติจะมีบริษัทเลิกกิจการน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่ได้ปิดยอดงบดุลและเลิกกิจการไปตั้งแต่ปลายปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีความได้เปรียบเนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูงในการเคลื่อนย้ายแรงงานจากระหว่างภาคเศรษฐกิจอื่นๆ กลับไปสู่ภาคเกษตร ดังนั้น ภาครัฐควรดูแลปัญหาต่างๆ และรีบเร่งดูแลภาคอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงภาคเกษตร ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราการว่างงานปี 52 อาจจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.0 — 1.2 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 3.8 - 4.2 ของกำลังแรงงาน และหากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมาช่วยให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากกรณีฐาน จะเอื้อให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวน 1.8 แสนคน
2. สหรัฐวางแผนลดการขาดดุลงบประมาณภายใน 4 ปี
  • ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประกาศว่าจะลดการขาดดุลงบประมาณเป็นจำนวน 5.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 3 ของ GDP ในปี 2556 หลังจากที่วิกฤตเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลต้องประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นจำนวน 7.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลจะยกเลิกนโยบายการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้มีรายได้สูงของรัฐบาลบุชที่จะหมดอายุลงในปี 2554 และจะถอนทหารออกจากอิรัก ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านการทหารลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่าเป็นไปได้ยากที่สหรัฐจะลดการขาดดุลงบประมาณได้มาก เนื่องจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้รัฐบาลเก็บรายได้ได้น้อยลง ขณะที่มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ เห็นได้จากในปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าสหรัฐจะขาดดุลงบประมาณถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 9 ต่อ GDP ในปี 51 ก่อนจะรวมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 7.87 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และแผนกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จำนวน 2.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากรวมแผนทั้งสองแล้วอาจทำให้การขาดดุลงบประมาณสูงถึงร้อยละ 13 ต่อ GDP ซึ่งในระยะต่อไปรัฐบาลจะต้องกู้เงินมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยสูงขึ้นและเป็นภาระต่องบประมาณภาครัฐในอนาคต
3. สหรัฐประกาศรายละเอียดแผนช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย
  • ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประกาศรายละเอียดแผนช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เสี่ยงต่อการถูกยึดบ้าน ซึ่งประเมินว่าจะใช้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น 2.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมการช่วยเหลือแก่ครัวเรือนอเมริกัน 9 ล้านครัวเรือน โดยเงิน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์แรกจะนำไปลดภาระการชำระค่างวดซื้อบ้านรายเดือนแก่ผู้กู้ ช่วยเหลือลูกหนี้หรือได้รับการค้ำประกันเงินกู้ซื้อบ้านจากแฟนนี แม และเฟรดดีแมค นอกจากนี้ จะมีการเพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินทั้งสองแห่งนี้ รวม 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้สามารถซื้อสัญญาเงินกู้ได้มากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การประกาศแผนช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยของสหรัฐ เป็นการแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่ต้นเหตุและตรงจุด เนื่องจากวิกฤติการเงินและเศรษฐกิจที่สหรัฐกำลังเผชิญอยู่นี้ มีสาเหตุมาจากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวลดลง จนส่งผลให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ หากสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้หรือค้ำประกันเงินกู้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาได้ จะยิ่งส่งผลให้หนี้สินของภาคครัวเรือนในสหรัฐปรับตัวลดลง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ