รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 26, 2009 11:20 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 ก.พ. 2552

SUMMARY:

1. พาณิชย์ปรับลดเป้าส่งออกของไทยในปี 2552

2. กนง. ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.5%

3. การส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -45.7 ต่อปี

HIGHLIGHT:
1. พาณิชย์ปรับลดเป้าส่งออกของไทยในปี 2552
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นสถานการณ์การส่งออกปีนี้มีโอกาสติดลบสูง โดยจะประเมินสถานการณ์รายไตรมาส และยังหวังว่าการส่งออกจะเติบโตที่ร้อยละ 0-3 ซึ่งได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์ทำงานให้หนักขึ้นเป็นสองเท่า อีกทั้งการมีมาตรการดูแลการส่งออกเพื่อให้เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับลดเป้าหมายการส่งออกของไทย โดยตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จะขยายตัวลดลงร้อยละ 2-5 จากที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 2 สหภาพยุโรป(15) ลดลงร้อยละ 2-5 จากที่คาดว่าขยายตัวร้อยละ 4 ญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 0-3 จากเดิมที่คาดว่าจะขายตัวร้อยละ 5 จีน ขยายตัวร้อยละ 0-7 จากเดิมที่ร้อยละ 15
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของประเทศไทยในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวลงจากปีก่อนหน้า โดยจะหดตัวมากในสามไตรมาสแรก จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ฐานที่สูงมากในปีก่อนและราคาสินค้าส่งออกที่ลดลงอย่างมากและรวดเร็ว แต่คาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี หากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งนี้ ในเดือนม.ค. 52 มูลค่าการส่งออกไปยังยูโรโซน สหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน หดตัวร้อยละ -28.4 -27.7 -18.8 และ-40.1 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ GDP ใน Q1/52 จะหดตัวมากขึ้น
2. กนง. ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.5%
  • กนง. ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.5% มาที่ร้อยละ 1.50 โดยผู้ช่วยธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าน่าจะเห็นธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม แต่คงไม่มากนัก เพราะธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนเงินฝากที่จะต้องพิจารณาเป็นหลัก ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไปแล้วร้อยละ 1.31 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลดร้อยละ 0.75
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในครั้งนี้คาดว่าจะไม่ส่งผลในการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวเร็วและรุนแรงกว่าที่คาดเอาไว้มาก ได้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง และส่งผลให้นักลงทุนเลื่อนการตัดสินใจใหม่ออกไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 52 จะปรับลดลงจากสิ้นปี 51ที่ร้อยละ 2.75 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.5 — 1.0 ต่อปี
3. การส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -45.7 ต่อปี
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่น รายงานว่า การส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -45.7 ต่อปี นับเป็นตัวเลขต่ำสุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลใน ปี 2522 ผลจากการใช้จ่ายทั่วโลกลดลง นอกจากนี้ มีนักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดว่า ญี่ปุ่นจะรายงานตัวเลขอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -10.0 และจะมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มสูงขึ้นด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. 52 ที่หดตัวลงมาก นั้น สะท้อนถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลกมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้คาดการณ์ได้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 52 จะหดตัวลงมากกว่าที่ สศค.เคยคาดการไว้เดิมที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี ทั้งนี้ ในQ4/51 GDP ญี่ปุ่นหดตัวลงที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ