รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 มีนาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 2, 2009 12:02 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 มี.ค. 2552

SUMMARY:

1. อุตสาหกรรมรถยนต์รับพิษวิกฤติเศรษฐกิจรอลุ้น 4 มาตรการช่วยเหลือภาครัฐ

2. รัฐเห็นชอบแผนเพิ่มทักษะแรงงาน ชะลอการเลิกจ้าง

3. รัฐบาลสหรัฐประกาศเข้าเพิ่มทุนให้ Citigroup เป็นครั้งที่สาม

HIGHLIGHT:
1 อุตสาหกรรมรถยนต์รับพิษวิกฤติเศรษฐกิจรอลุ้น 4 มาตรการช่วยเหลือภาครัฐ
  • คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมมีข้อเสนอแนวทางแก้วิกฤติยานยนต์ ซึ่งจะเสนอให้ ครม. เศรษฐกิจพิจารณาในวันที่ 4 มี.ค. 52 ได้แก่ 1. การปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ทุกประเภทลงร้อยละ 3 และให้นำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีเงินได้ 5 หมื่นบาท 2. ผ่อนปรนการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของเกษตรกร 3. บรรเทาการปัญหาการเลิกจ้าง และ 4. จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งชาติ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีสัญญาณชะลอตัวนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2551 สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวอย่างต่อเนื่องนับจากเดือน ต.ค. 51 ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 52 หดตัวสูงถึงร้อยละ -25.6 ต่อปี สำหรับข้อเสนอของอุตสาหกรรมยานยนต์ นั้น สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จำเป็นจะต้องคำนึงถึงฐานะทางการคลังของรัฐบาลด้วย ในภาวะที่รัฐบาลต้องใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน
2. รัฐเห็นชอบแผนเพิ่มทักษะแรงงาน ชะลอการเลิกจ้าง
  • คณะกรรมการดำเนินการโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมชุมชน เห็นชอบหลักเกณฑ์การพิจารณาหลักสูตรการฝึกอบรมแรงงาน เพื่อชะลอการเลิกจ้าง โดยจะเน้นผู้ที่อยู่ในข่ายถูกเลิกจ้างและภาคธุรกิจที่ต้องการเพิ่มทักษะแรงงาน โดยจะมีการช่วยนายจ้างจ่ายเบี้ยเลี้ยง 4,800 บาทต่อคนระหว่างอบรม พร้อมสนับสนุนค่าพาหนะระหว่างอบรมคนละ 720 บาท และหากต้องการกลับภูมิลำเนาสามารถเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงจากโครงการได้เดือนละ 4,800 บาท นาน 3 เดือน โดยวางเป้าฝึกอบรมจำนวน 2.4 แสนราย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนม.ค. 52 พบว่ายังคงมีสัญญาณชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเฉพาะผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่หดตัวสูง ทำให้มีการเลิกจ้างและ/หรือปรับลดชั่วโมงการทำงานของแรงงานในกลุ่มดังกล่าวลง โดยจากสถิติล่าสุดพบว่าการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค.51 หดตัวลงร้อยละ -5.8 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนพ.ค.51 ทั้งนี้ มาตรการเพิ่มทักษะแรงงาน เป็นการช่วยทำให้ภาคเอกชนไม่จำเป็นต้องปลดคนงานออก ขณะที่เมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีอีกครั้งก็จะทำให้คนงานพร้อมกลับมาทำงาน
3. รัฐบาลสหรัฐประกาศเข้าเพิ่มทุนให้ Citigroup เป็นครั้งที่สาม
  • รัฐบาลสหรัฐประกาศเข้าเพิ่มทุนใน Citigroup ซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐ โดยแปลงหุ้นบุริมสิทธิ์ที่ให้เงินปันผลแต่ไม่ให้สิทธิในการบริหารมาเป็นหุ้นสามัญที่จะทำให้ภาครัฐมีอำนาจในการบริหารมากขึ้น ซึ่งจะทำให้กระทรวงการคลังมีสัดส่วนถือครองหุ้นที่ร้อยละ 36 ขณะที่ผู้ถือหุ้นอื่นลดลงถึงร้อยละ 74 ซึ่งการเปลี่ยนครั้งนี้ทำให้ Citi ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินปันผลและสามารถนำเงินส่วนดังกล่าวมาใช้ในการบริหารต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเข้าเพิ่มทุนดังกล่าวในทางปฏิบัติแล้วเป็นการนำกิจการเข้าเป็นของรัฐ (De Facto Nationalization) ซึ่งเป็นทางออกสุดท้ายของการแก้วิกฤตการเงินครั้งนี้ เนื่องจากหากภาครัฐไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ Citi อาจล้มละลายและเกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่กว่าครั้งที่ Lehman Brothers ล้ม อย่างไรก็ตาม การเพิ่มทุนดังกล่าวมีความเสี่ยง 3 ประการคือ (1) อาจเป็นการส่งสัญญาณว่าธนาคารดังกล่าวมีความเสี่ยงสูง ทำให้ผู้ฝากเงินวิตกและแห่ถอนเงิน (Bank Run) ในธนาคารดังกล่าวและธนาคารอื่น ๆ (2) การเมืองอาจเข้าแทรกแซงกิจการภายในของธนาคารและทำให้การบริหารขาดประสิทธิภาพ (3) ภาครัฐอาจต้องถือหุ้นในระยะยาวเนื่องจากธนาคารอาจยังขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลประสบภาวะขาดดุลการคลังรุนแรงจนถืงขั้นล้มละลายได้ ดังเช่นกรณีของวิกฤตลาตินอเมริกาในทศวรรษที่ 80

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ