รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 มีนาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 3, 2009 11:45 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 มี.ค. 2552

SUMMARY:

1. ก.พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนก.พ.52 ติดลบ 0.1%

2. ธนาคารพาณิชย์กังวลค่าเงินบาทอ่อนตัวสู่ 37.0 ต่อเหรียญสหรัฐ

3. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียปรับลดลง

HIGHLIGHT:
1 ก.พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนก.พ.52 ติดลบ 0.1%
  • ก.พาณิชย์เผย ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือน ก.พ. 52 อยู่ที่ 103.1 ลดลง 0.1 % จากเดือน ก.พ. 51 แต่เพิ่มขึ้น 1.0% จากเดือน ม.ค. 52 โดยเฉลี่ยช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนส่วน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ในเดือน ก.พ. 52 อยู่ที่ระดับ 102.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากเดือน ก.พ. 51 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากเดือน ม.ค. 51 และเฉลี่ยช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับดัชนีสินค้าหมวดอาหารในเดือน ก.พ. 52 อยู่ที่ 114.6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 จากเดือน ก.พ. 51 แต่ลดลงร้อยละ 0.3 จากเดือน ม.ค. 52และดัชนีสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารในเดือน ก.พ. 52 อยู่ที่ 95.6 ลดลงร้อยละ 6.4จากเดือน ก.พ. 51 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากเดือน ม.ค. 52
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงมีสาเหตุมาจาก 1) ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงจากจุดสูงสุดช่วงเดือนก.ค. 51 2) อุปสงค์ต่อสินค้าสินค้าและบริการที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในช่วงครึ่งหลังของปี 52 และทั้งปี 53 คาดว่าเงินเฟ้อจะเท่ากับร้อยละ 1.0 ต่อปีลดลงจากปี 51 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อปี
2. ธนาคารพาณิชย์กังวลค่าเงินบาทอ่อนตัวสู่ 37.0 ต่อเหรียญสหรัฐ
  • นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์(ไทย) เผยว่า ภายใน 1-2 เดือนนี้ ค่าเงินบาทอาจแตะระดับ 37.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าต่อเนื่อง แต่การที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงช่วงนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีกว่าเงินบาทแข็งค่า เพราะเป็นการช่วยลดแรงเสียดทายจากภาคการส่งออกที่ปรับตัวลดลงในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม ถือว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้นเป็นไปตามภูมิภาค ในขณะที่ค่าเงินในสกุลอื่นยังคงอ่อนค่าเร็วกว่า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องนั้นเป็นผลจากเงินลงทุนในตลาดหุ้นได้ไหลออก ประกอบกับแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้ประกอบการนำเข้าจากความกังวลแนวโน้มค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงนั้นจะส่งผลบวกต่อผู้ส่งออกของไทยที่ได้ราคาเพิ่มขึ้นเมื่อคิดกลับเป็นเงินบาท ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ดุลบัญชีเดินสะพัด เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวมากกว่าการส่งออกจะช่วยลดแรงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวได้ในระดับหนึ่ง
3. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียปรับลดลง
  • สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ดัชนีตลาดหุ้นในเอเชียต่างปรับตัวลดลง เนื่องจากกระทรวง พาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ปี 2551 หดตัวลงร้อยละ 6.2 ต่อปี และข่าวบริษัท AIG อาจได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาลสหรัฐจำนวน 30 พันล้านดอลลาร์

ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์คปรับลดลงเหลือ 43.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และดัชนีตลาดหุ้นหลักในเอเชียปรับลดลง ได้แก่ ดัชนีนิกเคอิ 225 ร้อยละ 3.8 ดัชนีตลาดหุ้นเกาหลี ร้อยละ 4.1 ดัชนีฮั่งเซ็ง ร้อยละ 3.9 ดัชนีสเตรทไทม์ ร้อยละ 3.8 เป็นต้นทั้งนี้ การปรับลดลงของตลาดหุ้นในเอเชีย มีผลต่อการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐต่อเงินสกุลหลักของเอเชีย (ยกเว้นเงินสกุลเยน)

  • สศค. วิเคราะห์ว่าวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันส่งผลต่อการปรับลดลงของการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนในสหรัฐระดับสูงซึ่งมีน้ำหนักกว่าร้อยละ 70 ของ GDP สหรัฐ ทั้งนี้ การหดตัวของตัวเลข GDP สหรัฐในไตรมาส 4 ที่สูงสุดในรอบ 27 ปี ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและอุตสาหกรรมทั่วโลกมีการปรับลดของกำลังการผลิต ปริมาณความต้องการน้ำมันและการลงทุน

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้คาดว่าอัตราว่างงานในสหรัฐจะพุ่งสูงขึ้นในระดับร้อยละ 8.5 - 8.8 สูงกว่าที่เดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 7.1 - 7.6

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ