Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 มี.ค. 2552
1. ภาคก่อสร้าง-วิศวกร-สถาปนิก เสี่ยงตกงาน ผู้รับเหมาปิดกิจการแล้วกว่า 3,000 ราย
2. กฟผ.เผยการใช้ไฟฟ้าในเดือน ก.พ. 52 ติดลบน้อยลงจากเดือนก่อน
3. รัฐบาลสหรัฐอเมริกาอัดฉีด 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ อุ้ม AIG รอบ 4
- นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯ เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างเกิดวิกฤติอย่างหนัก ปัจจุบันพบว่ามีผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างขอปิดบัญชีไปแล้วประมาณ 600 ราย จากบริษัทรับเหมาที่จดทะเบียน 30,000 ราย หากรวมบริษัทเล็กด้วยจะมีการปิดตัวประมาณ 3,000 ราย ซึ่งแรงงานประมาณ 1 ล้านคนจะต้องตกงาน พร้อมทั้งประเมินว่า งานภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างจะหดตัวลงประมาณร้อยละ 50 คิดเป็นมูลค่าอยู่ประมาณ 3.2 แสนล้านบาท โดยภาครัฐหดตัวลง 1.6 แสนล้านบาท และเอกชนหดตัวลง 1.6 แสนล้านบาท สมาคมคาดว่าในกลางปีนี้จะมีคนตกงานเพิ่มเป็น 1.6 ล้านคน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างได้รับผลจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ และอุปสงค์ในที่อยู่อาศัย+สิ่งปลูกสร้างลดลง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงชะลอการลงทุนออกไป ประกอบกับบางแห่งยังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจาก ธ.พาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ และบางแห่งมีการสต๊อกวัสดุก่อสร้างเช่น เหล็ก, หิน, ดิน, ทราย ไว้ในช่วงที่ราคาแพง ทำให้ขาดทุนอย่างหนัก อย่าไรก็ตามภาครัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือโดย เร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนในปี 52 พร้อมทั้งขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะไปอีก 1 ปี ถึง 28 มี.ค. 2553 ซึ่งจะสามารถกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศได้
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าในเดือน ก.พ. 52 ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ -0.6 ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงเป็นเดือนที่สองของปีนี้ แต่อัตราการหดตัวนั้นชะลอตัวลงจากเดือน ม.ค. 52 ที่หดตัวถึงร้อยละ -13 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้การใช้ไฟฟ้าในช่วง 2 เดือนแรกของปี 52 หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วง 2 เดือนแรกของปีที่แล้วที่ร้อยละ 7.2 ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวโดยเฉพาะในตัวเลขการส่งออกของไทยที่ลดลงอย่างมาก ประกอบกับสภาวะอากาศค่อนข้างเย็นในช่วงต้นเดือน ม.ค. ก่อนที่จะกลับมาร้อนอีกครั้งในช่วงเดือน ก.พ.
- สศค. วิเคราะห์ว่า การใช้ไฟฟ้าที่หดตัวลงในช่วง 2 เดือนแรกของปี 52 คาดว่าจะมาจากการหดตัวในการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตภาคอุตสาหกรรม (ที่มีไฟฟ้าเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ) รวมถึงภาคบริการโรงแรมและภัตตาคาร ที่ซบเซาตามภาวะการท่องเที่ยว ส่งผลให้การบริโภค การลงทุน ชะลอตัวลงตามไปด้วย
- รายงานข่าวของเอเอฟพี ระบุว่า อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (AIG) ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสขาดทุน 61.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ยอดขาดทุนไตรมาสเดียวของบริษัทอเมริกา ทำให้บริษัทมียอดขาดทุนสุทธิปี 51 เพิ่มเป็น 99.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทางการสหรัฐซึ่งได้อัดฉีดเงินให้ AIG ไปแล้ว 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เปิดแผนอัดฉีดเงินเพิ่มอีก 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อุ้ม AIG ซึ่งเจ้าหน้าที่กล่าวว่า ความล้มเหลวของ AIG อาจก่อให้เกิดคลื่นความตื่นตระหนกครั้งใหม่แก่เศรษฐกิจ ทั้งนี้ ภายใต้แผนใหม่ รัฐบาลจะแปลงหุ้นบุริมสิทธิ์มาเป็นหุ้นสามัญ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงแก่กองทุนผู้เสียภาษีหาก AIG
-สศค. วิเคราะห์ว่า ผลขาดทุนของเอไอจีในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 จำนวน 61.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สอดคล้องกับเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่หดตัวในช่วงเวลาเดียวกัน กล่าวคือ เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 หดตัวที่ร้อยละ -0.8 หดตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 ทั้งนี้ ผลขาดทุนดังกล่าวและมาตรการของรัฐบาล จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐต่อไป
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th