Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 มี.ค. 2552
SUMMARY:
1. ว่างงานสหรัฐเพิ่มเป็นร้อยละ 8.1 สูงสุดในรอบ 26 ปี
2. มาเลเซียเผยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่ 2 งบประมาณ 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
3. นักวิเคราะห์แนะรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียเพิ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ
HIGHLIGHT:
1. ว่างงานสหรัฐเพิ่มเป็นร้อยละ 8.1 สูงสุดในรอบ 26 ปี
- กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานตัวเลขการว่างงานเดือน ก.พ. 52 อยู่ที่ร้อยละ 8.1 ของกำลังแรงงานรวม เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. ที่อยู่ที่ร้อยละ 7.6 และสูงสุดในรอบ 26 ปี โดยจำนวนการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 6.5 แสนคนในเดือน ก.พ. ในขณะที่นับจากเดือน ธ.ค. 50 อันช่วงเริ่มของภาวะถดถอยอย่างเป็นทางการนั้น จำนวนแรงงานที่ถูกเลิกจ้างมีทั้งหมด 4.4 ล้านคน โดยภาคก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม และภาคธุรกิจมีการหดตัวมากที่สุด ทั้งนี้ สำนักวิจัย Deutsche Bank คาดว่าตัวเลขการว่างงานสหรัฐในปี 52 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ของกำลังแรงงานรวม
- สศค. วิเคราะห์ว่าในเดือน ก.พ. 52 จำนวนคนว่างงานรวมทุกภาคการผลิตของสหรัฐเพิ่มขึ้น 8.5 แสนคน ทำให้มีจำนวนคนว่างงานรวมเป็น 12.5 ล้านคน หรือร้อยละ 8.1 ของกำลังแรงงานรวม ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 4 ปี 51 อันเป็นช่วงเริ่มของวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐจนถึงปัจจุบันนั้น จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 ล้านคน หรือเฉลี่ยเดือนละ 4.5 แสนคน ดังนั้น หากเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยต่อเนื่องในช่วง 6-7 เดือนข้างหน้าตามที่หลายฝ่ายคาดไว้ มีโอกาสที่จำนวนคนว่างงานจะเพิ่มขึ้นอีก 2.8 ล้านคน ทำให้จำนวนรวมเป็น 15.1 ล้านคนหรือร้อยละ 10 ของกำลังแรงงานรวมได้
2. มาเลเซียเผยแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่ 2 งบประมาณ 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าอาจจะแถลงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่ 2 ซึ่งมีมูลค่ามากถึง 9,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อรัฐสภาในวันอังคารนี้(10 มี.ค.52) ทั้งนี้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างงาน ซึ่งจะมีรายละเอียดครอบคลุมทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการฝึกอบรมแก่คนว่างงาน รวมทั้งมาตรการลดภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ
- สศค. วิเคราะห์ว่า มาเลเซียได้ออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งที่ 1 ที่มีมูลค่า 3.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 6.64 ของงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาล และร้อยละ 1.8 ของ GDP อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกที่หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ทำให้มาเลเซียเพิ่มวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้มีมูลค่ารวม 12.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 24.24 ของงบประมาณการใช้จ่ายของรัฐบาลและร้อยละ 7.8 ของ GDP
3. นักวิเคราะห์แนะรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียเพิ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ
- เอเอฟพี รายงานวานนี้ (8 มี.ค. 52) ว่าตั้งแต่เดือน ต.ค. 51 รัฐบาลในภูมิภาคเอเชียได้มีการออกมาตรการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ารวมอย่างน้อย 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนักวิเคราะห์มีความเห็นตรงกันว่า จากที่ภาคส่งออกซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกอย่างนัก จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลในภูมิภาคเอเชียจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อยับยั้งไม่ให้เศรษฐกิจในภูมิภาคทรุดตัวไปมากกว่านี้ ทั้งนี้ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์และมาเลเซีย ต่างเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
- สศค. วิเคราะห์ว่า รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคเอเชียได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ที่ใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 12.3 17.8 และ 18.5 ของ GDP ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศภูมิภาคอาเซียนมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน แม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าในเชิงเปรียบเทียบ
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th