รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 2-6 มีนาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 9, 2009 15:47 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 52 หดตัวร้อยละ -0.1 ต่อปี หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี นับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง หากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนนี้ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มหดตัวร้อยละ -0.3 ตามราคาผักสดที่ลดลงร้อยละ -13.9 ซึ่งมีสาเหตุจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ดัชนีหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 1.8 โดยมีปัจจัยสำคัญคือราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 12.0 เนื่องจากมีการยกเลิกนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือนในส่วนของภาษีสรรพสามิต อีกทั้งมีการปรับการสนับสนุนค่าไฟฟ้าและน้ำประปาใหม่ ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยค่าไฟฟ้าสูงขึ้นร้อยละ 12.9 และค่าน้ำประปาร้อยละ 66.8 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน มี.ค. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.8 ต่อปี

ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กภายในประเทศเดือนม.ค. 52 หดตัวลงร้อยละ -11.9 ต่อปี และร้อยละ -45.1 ต่อปี ตามลำดับ โดยสาเหตุที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กหดตัวต่อเนื่องมาจากภาวะวิกฤติทางการเงินของโลกที่ได้ส่งผลกระทบทำให้รายได้ประชาชาติ (GDP) หดตัวลงร้อยละ -4.3 ต่อปี ในไตรมาส 4 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการใช้จ่ายภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการชะลอการลงทุน รวมถึงการเลื่อนการสั่งซื้อปูนซีเมนต์และเหล็กออกไปก่อนตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง

ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือนม.ค. 52 เกินดุล 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากดุลการค้าที่เกินดุล 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากมูลค่าส่งออกหดตัวร้อยละ -25.3 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -36.5 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน มีการเกินดุล 0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนที่เกินดุล 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามการลดลงของรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติ

สินเชื่อให้ภาคเอกชนและเงินฝากของสถาบันรับฝากเงินปรับตัวลดลงในเดือน ม.ค. 52 สินเชื่อของสถาบันรับฝากเงิน (ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สหกรณ์ออมทรัพย์ และกองทุนรวมตลาดเงิน)ในเดือน ม.ค. 52 ขยายตัวร้อยละ 8.7 ต่อปี ชะลอจากเดือนก่อนหน้า โดยชะลอตัวในสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 8,493.8 พันล้านบาท ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 8,565.2 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการหดตัวที่ร้อยละ - 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ขณะเดียวกัน เงินฝากของสถาบันรับฝากเงินในเดือน ม.ค. 52 ชะลอลงมาที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี อันเป็นผลมาจากการถอนเงินฝากในธนาคารพาณิชย์มาลงทุนในหลักทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยในเดือน ม.ค. 52 มีเงินฝากจำนวน 9,276.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 9,203.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน ก.พ. 52 คาดว่าจะขยายตัวในที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี เนื่องจากการขยายตัวของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะ มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นผลมาจากราคาขยายตัวในระดับสูงเมื่อปีที่แล้วจูงใจให้ประชาชนทำการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น ส่วนข้าวนาปี แม้ว่าจะอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว แต่มีผลผลิตออกมาบ้างประปราย เนื่องจากมีการเก็บเกี่ยวเหลือมเดือนผลจากน้ำท่วมช่วงปลายปี 51 ในขณะที่ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ผลผลิตลดลงตามราคาที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เดือน ก.พ. 52 คาดว่าจะหดตัวลดลงที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.4 ต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าฟุ่มเฟือยที่นำ เข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งที่จัดเก็บภายในประเทศและจัดเก็บจากสินค้านำเข้า จึงน่าจะชะลอลงอย่างชัดเจน

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงแทบทุกสกุลยกเว้นค่าเงินดอลลาร์สิงค์โปร์

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยอ่อนลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากตลาดยังคงมีความวิตกกังวลต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจซึ่งยังคง ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทางการสหรัฐฯมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเข้าช่วย CitiGroup พร้อมทั้งประกาศความจำเป็นที่จะต้องใช้ แผนการเพิ่มทุนให้กับสถาบันการเงิน (Capital Assistance Program) และเข้าช่วยเหลือ AIG โดยอาจจะจำเป็นต้องตั้งวงเงินในการช่วยเหลือถึงกว่า 180 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่ AIG ได้ออกมาประกาศตัวเลขขาดทุนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 61.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน ภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยลง หลังจากการที่ทางการสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขการขอรับเงินช่วยเหลือของผู้ว่างงาน (Jobless claim) ที่สูงที่สุดในรอบ 30 ปี พร้อมกับตัวเลขปรับปรุงของการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ที่หดตัวลงร้อยละ -6.2 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (qoq annualized) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่ ตลาดคาดไว้ อีกทั้งตัวเลขการขายบ้านใหม่ (New home sales) ของสหรัฐประจำเดือน ม.ค. หดตัวลงที่ร้อยละ -10.2 ต่อปี ส่งผลให้นักลงทุนมองตลาดในเชิงลบมากขึ้นอีก จึงทำให้นักลงทุนต่างมีกระแส risk aversion และไปลงทุนในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในฐานะเป็นเงินสกุลที่มีความปลอดภัยสูง (safe haven) อย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับทุกสกุล

ในขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจในยุโรปและอังกฤษยังคงตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่ทางกลุ่มผู้นำสหภาพยุโรป (EU) ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือครั้งใหญ่ต่อประเทศในแถบยุโรปตะวันออก ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินในประเทศแถบยุโรปย่ำแย่ลงอีก และส่งผลให้ค่าเงินยูโรและปอนด์สเตอลิงค์อ่อนค่าลง

ค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองของญี่ปุ่นยังคงมีความไม่แน่นอน ส่งผล ให้นักลงทุนกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจการเงินในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง และทำให้เงินเยนเริ่มสูญเสียความเป็นสกุลเงิน safe haven และอ่อนค่าลงต่อเนื่อง

สกุลเงินในภูมิภาคต่างอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจากปัจจัยกระแส risk aversion ข้างต้น โดยเฉพาะค่าเงินวอน แม้ว่าสกุลเงินใน ภูมิภาคจะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากการที่ตลาดมองว่าเศรษฐกิจประเทศจีนจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ภาวะเศรษฐกิจในแถบภูมิภาคไม่ทรุดลงมากนักหลังจากที่ทางการจีนออกมาให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจของจีนน่าจะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 8 ต่อปี และทางการจีนพร้อมที่จะเพิ่มการใช้จ่ายในด้านต่างๆเช่นการผลิตและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานนอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมีวงเงิน 4 ล้านล้านหยวน ที่ประกาศไปเมื่อเดือน พ.ย.51 ในขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปในช่วงต้นสัปดาห์ค่อนข้างมากตามกระแส risk aversion ก่อนที่จะแข็งค่าขึ้นจากการทำกำไรจากการขายดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่าขึ้นมาค่อนข้างมากในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 6 มี.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 51 ที่ร้อยละ 2.12 และอ่อนลงจากสัปดาห์ที่แล้วเล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 2.2

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 19.4) ยูโร (ร้อยละ 6.7) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 5.9) เงินเยน (ร้อยละ 3.9) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 3.4) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 3.5) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 1.8) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 4.9) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 4.1) หยวน (ร้อยละ 4.0) เปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 1.8) และปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 1.2) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 27 ก.พ. 52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) ลดลงสุทธิ -1.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 17.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน -0.94พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองลงลดส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการตีค่ามูลค่าทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐลดลง(Valuation Gain) จากการที่ค่าเงิน EU และ JPY ซึ่งคาดว่ามีสัดส่วนในการถือครองประมาณร้อยละ 40 และ 10 อ่อนค่าลงในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว ร้อยละ 4.71 และ1.33 ตามลำดับ ประกอบกับคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะเข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะสถานการณ์ทางการเงินโลกมีความผันผวน จึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า (20 ก.พ. 51) 0.35 บาท จาก 35.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 27 ก.พ.52 หรือ อ่อนค่าลงคิดเป็นร้อยละ 0.99

Major Trading Partners’ Economies: This Week

สหรัฐประกาศตัวเลขปรับปรุงของ GDP ไตรมาส 4 ปี51 หดตัวร้อยละ-6.2 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (qoq annualized) หรือร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 51 ซึ่งเป็นการหดตัวรายไตรมาสที่รุนแรงที่สุดในรอบ 26 ปี และหดตัวรุนแรงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ประกาศก่อนหน้านี้ที่หดตัวร้อยละ-3.8 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (qoq annualized) หรือร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 51

ตัวเลข revised GDP ของกลุ่มประเทศยูโรโซน ไตรมาส 4 ปี51 หดตัวที่ร้อยละ -1.3 ต่อปี ลดลงจากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อปี ผลจากการหดตัวลงอย่างรุนแรงของการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่ร้อยละ -5.6 และ-3.3 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามภาวะอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศที่ลดลง อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ลดลง และภาวะสินเชื่อตึงตัว

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 51 ของออสเตรเลียขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสที่ 3 ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี ส่งผลให้เศรษฐกิจออสเตรเลียในปี 51 ขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อปี ชะลอลงจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อปี ทั้งนี้ เมื่อพิจารณา GDP ไตรมาส 4 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าพบว่าหดตัวลงร้อยละ -0.5 ซึ่งถือเป็นการหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี

GDP มาเลเซียไตรมาส 4 ปี 51 ขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อปี ชะลอลงจากร้อยละ 4.7 ต่อปี ในไตรมาสที่ 3 โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 5.3 ต่อปี ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ มีการขยายตัวเร่งขึ้นจากความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ร้อยละ 13.8 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนและส่งออกสุทธิ มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยการลงทุนขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี ส่วนการส่งออกสุทธิหดตัวที่ร้อยละ -40.1 ต่อปี ทั้งนี้ GDP ของมาเลเซียในปี 51 ขยายตัวร้อยละ 4.6 ต่อปี ชะลอลงจากปี 50 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี

GDP อินเดียไตรมาส 4 ปี 51 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปี ผลจากการหดตัวของมูลค่าการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ร้อยละ -7.9 ต่อปี ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรมและเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.2 และ 2.2 ต่อปี ตามลำดับส่งผลให้ทั้งปี 2551 เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวที่ร้อยละ 7.4 ต่อปี

ดัชนีอุตสาหกรรมโดยทางการจีน (NBS PMI) ในเดือนก.พ. 52 อยู่ที่ระดับ 49.0 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 45.3 ในเดือนม.ค. 52 ในณะที่ดัชนีอุตสาหกรรมที่รวบรวมโดยบริษัท CLSA อยู่ที่ระดับ 45.1 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 42.2 อย่างไรก็ตาม ดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงการหดตัวของภาคอุตสาหกรรม

ดัชนี PMI สิงคโปร์ในเดือน ก.พ. 52 ที่ระดับ 45.0 เท่ากับเดือนก่อนหน้าผลจากการขยายสต๊อกสินค้าสำเร็จรูป อย่างไรก็ดี การผลิต และการจ้างงานยังคงหดตัว โดยเฉพาะในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกันจากการส่งออกที่ถดถอย สะท้อนว่าภาคการผลิตยังคงอยู่ในภาวะหดตัว

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.พ. 52 ของฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 7.3 ต่อปีเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 7.1 ต่อปี เนื่องจากค่าเงินเปโซที่อ่อนค่าลง ทำให้ราคาน้ำมันและอาหารที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 6.4 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี

มูลค่าการส่งออกสินค้าของอินโดนีเซียเดือนม.ค. 52 หดตัวร้อยละ -36.1 ต่อปี ต่ำสุดในรอบ 22 ปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -20.6 ต่อปี โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน หดตัวร้อยละ -24.5 -33.6 และ -33.3 ต่อปีตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนม.ค.52 หดตัวร้อยละ-34.0 ต่อปี จากร้อยละ 12.6 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ผลจากความต้องการสินค้านำเข้าน้อยลง โดยเฉพาะในส่วนของสินค้าทุนที่หดตัวร้อยละ -38.0 ต่อปี

มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าของอินเดียเดือนม.ค. 52 หดตัวร้อยละ-15.9 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าหดตัวร้อยละ -18.2 ต่อปี จากผลของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลที่ -6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารกลางต่างๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดังนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 8.25 เหลือร้อยละ 7.75 ซึ่ง ต่ำสุดนับตั้งแต่กลางปี 48 จากความกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง ในขณะที่ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เหลือร้อยละ 4.75 จากร้อยละ 5.0 ลดลงน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในเดือนก.พ. 52 ที่เพิ่มสูงขึ้น และธนาคารกลางอินเดีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ย Repo ลงจากร้อยละ 5.5 เหลือร้อยละ 5.0

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ