รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 23-27 กุมภาพันธ์ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 5, 2009 17:49 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

1. รัฐบาลพิจารณาเข้าซื้อหุ้นของสถาบันการเงิน

นาย Kaoru Yosano รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือตลาดหลักทรัพย์ภายหลังที่ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ได้ตกต่ำอย่างมาก ตามตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กและยุโรปโดยกำลังพิจารณาว่าจะใช้เงินจำนวน 20 ล้านล้านเยน หรือ 207 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้หน่วยงานชื่อ Banks’ Shareholdings Purchase Corporation (จัดตั้งเมื่อปี 2545 ภายใต้การกำกับดูแลของ FSA และกระทรวงการคลัง) เข้าซื้อหุ้น (Stocks) และกองทุนที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ (Exchange Traded Funds) จากสถาบันการเงินโดยตรงหรือจากตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เห็นว่ารัฐบาลควรเร่งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ผลมากกว่าการใช้มาตรการนี้ เพราะมีความยั่งยืนกว่านอกจากนี้ยังต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล รวมทั้งได้เคยล้มเหลวมาแล้วในช่วงทศตวรรษ 1990 ที่ใช้เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญรัฐบาลเข้าซื้อหุ้น

ทั้งนี้ มีข่าวลือว่า ข้อเสนอนี้มาจากการลอบบี้ของสมาพันธ์อุตสาหกรรมญี่ปุ่น (Nippon Keidanren)ให้รัฐบาลใช้เงินงบประมาณเข้าซื้อหุ้นของบริษัทญี่ปุ่น เพื่อพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำเกินไป เพราะกำลังกัดกร่อนฐานะเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ที่จำเป็นต้องเพิ่มทุนจำนวนมหาศาล เช่น Mitsubishi UFJ Financial Group และ Mizuho Financial Group กลุ่มธุรกิจการเงินที่ใหญ่อันดับ 1 และ2 ของญี่ปุ่นได้ประกาศเพิ่มทุนจำนวนมากกว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอการใช้งบประมาณจำนวนดังกล่าว ปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาเช่นเดียวกับงบประมาณประจำปีและงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งกำลังประสบปัญหาความล่าช้า เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านมีเสียงข้างมากในสภาสูง ในขณะที่พรรครัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาล่าง ทำให้ไม่มีเสถียรภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ฝ่ายค้านซึ่งคาดว่าจะชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป ได้พยายามที่คว่ำรัฐบาล ในขณะที่รัฐบาลประวิงเวลาการเลือกตั้งใหม่เพราะคะแนนนิยมกำลังลดลงต่ำสุด และคาดว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคฝ่ายค้านจะได้เสียงข้างมากในสภา

2. Bank of Japan เข้าซื้อหุ้นของธนาคารพาณิชย์

เนื่องจากความล่าช้าในการแก้ปัญหาของรัฐบาล ในขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจกำลังรุมเร้า เมื่อวันจันทร์ที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา Bank of Japan (BOJ) ได้ประกาศใช้เงินทุนจำนวน 1 ล้านล้านเยน เข้าซื้อหุ้นของธนาคารพาณิชย์หรือหุ้นของบริษัทที่ธนาคารพาณิชย์ถืออยู่โดยตรงเพื่อเพิ่มเงินทุนของสถาบันการเงิน โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ประกาศจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 53 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ก่อนหน้านี้ BOJ ได้ใช้มาตรการซึ่งถือว่าเป็น Extremely Unusual ของธนาคารกลาง โดยจัดสรรเงินจำนวน 1 ล้านล้านเยน เข้าซื้อหุ้นกู้ (Corporate Bonds) ของบริษัทเอกชนที่ได้รับการจัดอันดับ Single A ขึ้นไป ครบกำหนดอายุต่ำกว่า 1 ปี ที่ใช้เป็นหลักประกันการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันการเงินให้ปล่อยกู้แก่เอกชนเพิ่มขึ้น โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค.52 เป็นต้นไป นอกจากนี้ BOJ ได้เข้าซื้อตราสารทางการเงิน(Commercial Paper) ระยะสั้นของเอกชนในสถาบันการเงิน รวมทั้งจัดสรรเงินกู้พิเศษดอกเบี้ยต่ำแก่สถาบันการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการกู้ต่อแก่เอกชน

3. JBIC พิจารณาขอใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อปล่อยกู้แก่บริษัทญี่ปุ่นในต่างประเทศ

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือบริษัทเอกชนญี่ปุ่นในต่างประเทศที่กำลังประสบปัญหาด้านเงินทุน อันเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยให้เงินสนับสนุนผ่าน JBIC เพื่อให้บริษัทเอกชนญี่ปุ่นกู้ และปัจจุบันบริษัทได้ยื่นขอเงินกู้จาก JBIC เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเงินทุนมีจำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการของบริษัทญี่ปุ่น ทำให้ JBIC ต้องขอให้รัฐบาลพิจารณาให้ใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อปล่อยกู้ให้แก่บริษัทเอกชนญี่ปุ่นในต่างประเทศเพิ่มเติม เพราะปัจจุบันตลาดเงินผันผวนและอยู่ในสภาวะขาดความ เชื่อมั่นอย่างมาก หาก JBIC ออกพันธบัตรเองเพื่อระดมเงินทุนจะมีต้นทุนที่สูงมาก

4. ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า ประจำเดือนม.ค. 52 สูงสุดเป็นประวัติการณ์

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่าการขาดดุลการค้าประจำเดือนมกราคม 2552 จำนวน 952.6 พันล้านเยน ซึ่งเป็นการขาดดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์และติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แล้ว ยอดการส่งออกลดลงร้อยละ 45.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลมาจากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 52.9 เป็นการลดลงมากที่สุดในประวัติการณ์ จากการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ลดลงอย่างมาก และการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและเอเชียก็ลดลงร้อยละ 47.4 และร้อยละ 46.7 ตามลำดับ ในขณะเดียวกันยอดการนำเข้าลดลงร้อยละ 31.7 เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบของประเทศตะวันออกลดลง

5. รายได้จากการเก็บภาษีท้องถิ่นลดลงร้อยละ 16.5

ผลการเก็บรายได้จากภาษีท้องถิ่นของ 47 จังหวัดในปีงบประมาณ 2552 คาดว่าจะลดลงร้อยละ 16.5 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2551 เป็นการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี จากผลประกอบการของบรรดาบริษัทที่เลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว จนส่งผลให้รายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลท้องถิ่นและภาษีธุรกิจลดลงจังหวัดที่มีรายได้ลดลงมากที่สุดคือ จังหวัด Aichi ลดลงร้อยละ 28.8 ซึ่งประสบปัญหาผลผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างมาก ส่วนรายได้ของจังหวัด Tochigi Gifu และ Shizuoka ลดลงร้อยละ 20 และรายได้ของ Tokyo ก็ลดลงร้อยละ 13.6 การลดลงของรายได้ดังกล่าวได้ส่งผลให้มีการออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 แต่ถึงแม้ว่ารายได้จากการเก็บภาษีจะลดลงอย่างมากก็ตาม แต่รัฐบาลท้องถิ่นก็ยังคงพยายามสนับสนุน SMEs และลงทุนด้านสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง ประจำกรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ