แถลงข่าวงานสัมมนานานาชาติ เรื่อง Future of Carbon Finance in Thailand : CDM Projects, Post — Kyoto Protocol

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 26, 2009 18:04 —กระทรวงการคลัง

แถลงข่าวงานสัมมนานานาชาติ เรื่อง

Future of Carbon Finance in Thailand : CDM Projects, Post — Kyoto Protocol

จัดโดย

ทีมประเทศไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว

โดยความร่วมมือจาก

กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม 2552

ณ ห้อง Athenee Crystal Hall, ชั้น 3 อาคาร Athenee Tower,

โรงแรม Plaza Athenee, Le Meridien, กรุงเทพฯ

---------------------

ทีมประเทศไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ได้ร่วมมือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้จัดสัมมนาเรื่องการเตรียมพร้อมระบบการเงินของไทยเพื่อรองรับการค้าคาร์บอนเครดิต (Recent Development in Carbon Markets: Implications for Thailand’s Financial Market) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551 ณ กรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นให้ภาครัฐและเอกชนตระหนักถึงผลที่จะมีต่อการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว จากการที่ประชาคมระหว่างประเทศกำลังให้ความสำคัญแก่การแก้ปัญหาโลกร้อน ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพิธีสารเกียวโต

การสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเงิน นักวิชาการตลอดจนผู้ประกอบการที่มีความสนใจในการลงทุนในโครงการสะอาด (Clean Development Mechanism (CDM)) เพื่อผลิตคาร์บอนเครดิต โดยพบว่าธุรกิจคาร์บอนเครดิตนั้นยังมีโอกาสที่จะเติบโตในประเทศไทยอีกมาก และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้มีพันธกรณีที่จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพิธีสารเกียวโต แต่ประเทศไทยก็ถือได้ว่ามีศักยภาพในการดำเนินโครงการ CDM เพื่อผลิตคาร์บอนเครดิตประเภท Carbon Emission Reduction (CERs) ซึ่งสามารถนำไปขายให้กับบริษัท หน่วยงาน และรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศตนตามเป้าหมายที่ได้มีการกำหนดไว้ตามพิธีสารเกียวโต

โดยที่ในปัจจุบันธุรกิจคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยยังคงเติบโตอยู่ในวงจำกัด คาร์บอนเครดิตที่ผลิตได้จากโครงการ CDM ที่ขายในตลาดโลกยังคงมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับคาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการ CDM ในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่น จีน อินเดีย และ บราซิล เป็นต้น เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ ได้แก่ การขาดนโยบายและมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนระหว่างประเทศสำหรับการกำหนดคาร์บอนเครดิต ขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านเทคนิคสิ่งแวดล้อม และด้านการเงิน ภาคการธนาคารเห็นว่าการให้สินเชื่อสนับสนุนโครงการ CDM ไม่ใช่โครงการหลัก ไม่ได้นำรายได้ที่สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ในอนาคตมาพิจารณาให้สินเชื่อ ทั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบของภาคเอกชนต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนสูงเนื่องจากโครงการ CDM มีขนาดเล็ก ขาดหน่วยงานกลางทำหน้าที่รวบรวมเพื่อขาย ทำให้ไม่คุ้มทุนที่จะยื่นขอจดทะเบียนในต่างประเทศเพื่อให้ได้รับคาร์บอนเครดิตมาขาย รวมทั้งข้อจำกัดด้านกฎระเบียบด้านการเงินที่อนุญาตให้สถาบันการเงินทำธุรกิจซื้อขายคาร์เครดิตได้ ในขณะที่ในต่างประเทศสถาบันการเงินได้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าคาร์บอนเครดิตมีการจัดตั้งส่วนงานขึ้นมารับผิดชอบด้านบริการการเงินด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Financial Products) โดยตรง รวมทั้งมีการจัดตั้ง Carbon Exchange Market ในลักษณะเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ เช่นในสิงคโปร์ และหลายประเทศในยุโรปเพื่อเป็นสถานที่ซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของโลกที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ปัญหาโลกร้อนอาจได้รับความสำคัญน้อยลงไปเมื่อเทียบกับปัญหาเศรษฐกิจที่เร่งด่วนอื่นๆ แต่การพัฒนาเศรษฐกิจนับแต่นี้ต่อไป มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เพราะผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่ามีต้นทุนทางเศรษฐกิจตามมาสูงมาก นอกจากนี้ นับแต่นี้ต่อไป แรงกดดันของประชาคมโลกต่อประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้แก่

1) รัฐบาลเดโมแครตของประธานธิบดีโอบามา ให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น เมื่อเทียบกับรัฐบาล รีพับลิกันที่ได้บ่ายเบี่ยงมาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา

2) สหภาพยุโรปออกกฏเกณฑ์เกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกฎเกณฑ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอากาศยาน ซึ่งจะกระทบถึงการส่งสินค้าออกของประเทศไทยไปยุโรปในอนาคต หรือกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพราะถือว่าการขนส่งโดยเครื่องบินก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

3) ญี่ปุ่นกำลังใช้มาตรการชักจูงผู้ประกอบการภายในประเทศให้สมัครใจลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่จะใช้มาตรการบังคับให้เอกชนลดเหมือนในยุโรป (cap and trade) โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม กำลังจัดทำแนวทางสำหรับผู้ผลิตสินค้าที่จะติดสลากบนผลิตภัณฑ์ของตนเพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงปริมาณคาร์บอนไดอ็อกไซด์ที่เกิดขึ้นจากตลอดวงจรผลิตของผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น (carbon footprint)

4) ผู้บริโภคในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของไทย กำลังตื่นตัวกับการแก้ปัญหาโลกร้อน และเริ่มมีมาตรการต่างๆ ซึ่งจะกลายรูปเป็น Non-tariff barrier ในอนาคตเกิดมากขึ้น ตัวอย่าง คือ carbon label

5) NGO’s โดยเฉพาะองค์การเพิ่มผลผลิตอุตสาหกรรมกำลังส่งเสริม eco-friendly products อย่างต่อเนื่อง ชักชวนให้ผู้ประกอบการผลิตทางอุตสาหกรรมลดก๊าซเรือนกระจก และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อที่ให้สินค้าอุปโภคบริโภคสามารถจำหน่ายได้ในอนาคต เมื่อมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกมีผลใช้บังคับในระดับโลก

6) ประเทศกำลังพัฒนาที่ยังไม่มีภาระผูกพันต้องลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ จีน อินเดีย มาเลเซีย เริ่มใช้ประโยชน์จากตลาดคาร์บอนเครดิตกันอย่างมาก ในขณะที่ไทยยังใช้ประโยชน์ในอัตราส่วนที่ต่ำกว่ามากแรงกดดันระหว่างประเทศกำลังสั่งสมขึ้นเรื่อยๆ ดังกล่าวมาข้างต้น จึงมีความจำเป็นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยต้องเตรียมตัวรับมืออย่างแท้จริง มิฉะนั้นแล้ว คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต คือ ความไม่พร้อมของไทยที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อสินค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว

การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับความรู้ถึงแนวโน้มตลาดการค้าคาร์บอนเครดิตในอนาคตทั้งของโลกและประเทศไทย ทั้งนโยบายและมาตรการจากภาครัฐที่สนับสนุน และเผยแพร่ความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนาโครงการ CDM โดยเฉพาะในแง่การเงินและการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการและสถาบันการเงินที่สนใจได้รับทราบเพื่อเป็นการส่งเสริมการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการและสถาบันการเงินในประเทศไทย รวมถึงเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการสร้างโอกาสทางธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการเงินในไทยกับสถาบันการเงินและหน่วยงานจากต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตในระดับโลก วิทยากรประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงินระหว่างประเทศ สถาบันการเงินเอกชนจากทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน และของไทย เป็นต้น

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ