รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 9—13 กุมภาพันธ์ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 16, 2009 14:05 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

1. การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประจำเดือน ธ.ค.51 ลดลงร้อยละ 92.1

เมื่อวันที่ 9 ก.พ.52 กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประจำเดือน ธ.ค.51 มีจำนวน 125.4 พันล้านเยน ลดลงร้อยละ 92.1 ซึ่งเป็นการลดลงมากสุดในประวัติการณ์ เป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยส่งผลให้การส่งออกลดลงอย่างมาก ดุลการค้าและบริการขาดดุลจำนวน 519.6 พันล้านเยนจากที่เกินดุลจำนวน 686.9 พันล้านเยนในระยะเดียวกันปีก่อนหน้า ส่วนดุลการค้าขาดดุลจำนวน 197.9 พันล้านเยน เป็นผลมาจากการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ และเอเชียลดลงอย่างมาก ส่วนการเกินดุลรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลจากการลงทุนต่างประเทศก็ลดลงร้อยละ 27.8 มีจำนวน 724.2 เทียบกับ 1,002.7 พันล้านเยน เป็นผลมาจากกำไรของบริษัทญี่ปุ่นที่ต่างประเทศลดลงและได้รับจำนวนเงินปันผลลดลงจากค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้นร้อยละ 18.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า แต่ก็ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดโดยรวมเกินดุล รายละเอียดดุลบัญชีการชำระเงินเดือน ธ.ค.51 ปรากฏตามเอกสารแนบ

สำหรับดุลบัญชีทุนและการเงิน (Capital and Financial Account Balance) มีเงินทุนไหลออกสุทธิเพิ่มขึ้น ในเดือน ธ.ค.51 เป็น 1,606.7 เพิ่มจาก 1,221.2 พันล้านเยนเทียบกับในระยะเดียวกันปีก่อนหน้าการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้น แต่มีเงินไหลเข้ากลับมาลงทุนประเภทอื่นๆ ในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมากในเดือน ธ.ค.51 จำนวน 10,966.1 จาก -2,481.8 พันล้านเยนเทียบกับในระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึง Yen carry trade ลดลง

2. จำนวนบริษัทล้มละลายในเดือน ม.ค.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.2

จำนวนบริษัทล้มละลายในเดือน ม.ค.52 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า อยู่ที่จำนวน 1,156 บริษัท เพิ่มขึ้น 8 เดือนติดต่อกันแล้ว โดยธุรกิจที่ล้มละลายมากที่สุด คืออสังหาริมทรัพย์ รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมอื่นๆ

3. เดือน ธ.ค. 51 จำนวนคำสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 1.7

Cabinet office รายงานว่าคำสั่งซื้อเครื่องจักรลดลงร้อยละ 1.7 ในเดือนธันวาคม ปี 2551 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มีมูลค่ารวม 741.6 พันล้านเยน ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกัน 3 เดือนและมูลค่าน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2530

นอกจากนี้ การลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ในไตรมาส 3 ปี 51 ลดลงร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า มากที่สุดนับตั้งปี 2530 การลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ลดลงอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 51 เป็นต้นมา แสดงให้เห็นถึงบริษัทเอกชนลดการลงทุนลง หรือเลื่อนการลงทุนใหม่ออกไป ในขณะที่ได้ลดการจ้างงานและลดกำลังการผลิตลง

4. ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในเดือน ม.ค.52

Cabinet Office เปิดเผยตัวเลขว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในเดือน ม.ค.52 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยหลังจากลดลงต่ำสุดเป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตัวเลขจะกระเตื้องเล็กน้อยแต่ก็ไม่ความแตกต่าง เนื่องจากผู้บริโภคยังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประกอบด้วย 5 ปัจจัยหลัก (คะแนนมากกว่า 50 แสดงถึงความเชื่อมั่นมาก แต่ถ้าต่ำกว่า 50 แสดงถึงความไม่มั่นใจ) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

Consumer Confidence Index: 26.4 (+0.2)

Overall Livelihood: 29.2 (+0.7)

Income Growth: 31.4 (-0.1)

Employment: 14.2 (-1.2)

Willingness to buy durable goods: 30.6 (+1.2)

จากตัวเลขดังกล่าว ตัวเลขความเชื่อมั่นด้านการจ้างงานต่ำสุด แสดงให้เห็นถึงประชาชนกังวลถึงภาวะการจ้างงานในอนาคต

5. หนี้สาธารณะต่อหัวของคนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า หนี้สาธารณะซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของพันธบัตรภายในประเทศปัจจุบันของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 846.69 ล้านล้านเยน ณ สิ้นปี 51 ซึ่งก่อนหน้านี้หนี้สาธารณะของรัฐบาลได้ลดลงมาเป็นผลจากความพยายามการปรับปรุงฐานะการคลังของรัฐบาล แต่ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นอีกจากการออกพันธบัตรรัฐบาลใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในงบประมาณพิเศษ (supplementary budget) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจปัจจุบันหนี้ต่อหัวของคนญี่ปุ่น ณ 31 ธ.ค. 51 อยู่ที่ระดับ 6.63 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจาก 6.60 ล้านเยน ในเดือน ก.ย.51 ที่ผ่านมา

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจการคลัง ประจำกรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ