Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 มี.ค. 2552
SUMMARY:
1. ราคาน้ำมันในเอเซียปรับขึ้น รับข่าวโอเปคลดการผลิต
2. การใช้จ่ายหดตัวกระทบภาคอสังหาฯ 3 เดือนแรกคาดว่าติดลบร้อยละ 30
3. ดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. ขาดดุลสูงสุดในรอบ 13 ปี
HIGHLIGHT:
1. ราคาน้ำมันในเอเซียปรับขึ้น รับข่าวโอเปคลดการผลิต
- นักวิเคราะห์จากบ. เอ็มเอฟ โกลบอล คาดว่ากลุ่มโอเปกอาจลดการผลิตน้ำมันลงเพื่อสกัดไม่ให้ราคาดิ่ง โดยน้ำมันดิบไลท์สวีทงวดส่งเดือนเม.ย. 52 ได้ปรับเพิ่มจาก 1.04 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 46.56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์งวดส่งมอบเดือนเม.ย. 52ปรับเพิ่มอีก 83 เซนต์ เป็น 45.68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านพลังงานของบริษัทดังกล่าว คาดว่าโอเปกอาจลดการผลิตลงอีกจากการประชุมในวันที่ 15 มี.ค. 52 เพื่อหารือเรื่องการลดกำลังผลิตน้ำมัน โดนนักวิเคราะห์มองว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันอยู่ในระดับที่ช่วยพยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งทุกฝ่ายต้องการเห็นเศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวให้เร็วที่สุด
- สศค. วิเคราะห์ว่าราคาน้ำมันดิบที่ลดลงเกิดจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบต่ออุปสงค์การใช้น้ำมันและการลดการเก็งกำไรในราคาน้ำมันของนักลงทุน ทั้งนี้ แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเล็กน้อยแต่ยังคงต่ำกว่าสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบของ สศค. ในช่วงราคา 50-60 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก
2. การใช้จ่ายหดตัวกระทบภาคอสังหาฯ 3 เดือนแรกคาดว่าติดลบร้อยละ 30
- คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสแรกของปี 52 คาดว่าจะอยู่ในภาวะชะลอตัวและอาจติดลบ โดยคาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 20-30 ต่อปี เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แม้ว่ากำลังซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์จะยังคงพอมีแต่ผู้บริโภคยังไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ปัญหาสำคัญที่ทำให้ยอดอสังหาฯ ชะลอลง คือ คนเริ่มตกงานกันมากขึ้นในธุรกิจที่ประสบปัญหา อาทิ ภาคการส่งออก ธุรกิจการท่องเที่ยว
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการลงทุนและผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ชะลอการตัดสินใจซื้อลงจากภาวะวิกฤติดังกล่าว ทั้งนี้ จากเครื่องชี้การลงทุนด้านการก่อสร้างล่าสุด ณ เดือนม.ค. 52 พบว่าหดตัวรุนแรง โดยปริมาณจำหน่ายเหล็กหดตัวร้อยละ -45.1 ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวร้อยละ -11.9 และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวร้อยละ -6.5 ต่อปีตามลำดับ
3. ดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นในเดือน ม.ค. ขาดดุลสูงสุดในรอบ 13 ปี
- ทางการญี่ปุ่นได้เปิดเผยตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ม.ค. 2552 ขาดดุลสูงสุดในรอบ 13 ปี อยู่ที่ระดับ 1.73 แสนล้านเยน โดยยอดส่งออกอยู่ที่ 3.28 ล้านล้านเยน ลดลงร้อยละ 46.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 4.13 ล้านล้านเยน ลดลงร้อยละ 31.7 ส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าอยู่ที่ระดับ 8.4 แสนล้านเยน ทั้งนี้ พบว่ายอดส่งออกของ ญี่ปุ่นสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาลดลงถึงร้อยละ 52.9 และในประเทศแถบเอเชียลดลงร้อยละ 46.7 โดยยอดการส่งออกสินค้ารถยนต์ปรับตัวลดลงในอัตราสูงถึงร้อยละ 66.1 และสินค้าค้ากึ่ง ตัวนำลดลงร้อยละ 52.8
- สศค. วิเคราะห์ว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นในระดับที่สูงถึง 1.73 แสนล้านเยน (สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ Reuters คาดการณ์ไว้ที่ 15.3 พันล้านเยน) ส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับลดลงมากของดุลรายได้ (Income Account) กว่าร้อยละ 31.5 ต่อปี เนื่องจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกมีผลกระทบรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศของญี่ปุ่น ในขณะที่ดุลการค้าปรับตัวลดลงเช่นกันจากยอดการส่งออกสินค้ารถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ หากสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวจะส่งผลให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นจะมีต่อไปในอนาคต
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th