รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 มีนาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 16, 2009 12:56 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 มี.ค. 2552

SUMMARY:

1. มติ กขช.รับจำนำข้าวนาปรังปี 52 ที่ 1.18 หมื่น บาทต่อตัน รวม 2.5 ล้านตัน

2. บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอเพิ่มจ้างงานประจำ-ลดจ้างงานชั่วคราว

3. G-20 เห็นแตกต่างในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก

HIGHLIGHT:
1. มติ กขช.รับจำนำข้าวนาปรังปี 52 ที่ 1.18 หมื่น บาทต่อตัน รวม 2.5 ล้านตัน
  • รมว.พาณิชย์ เผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) มีมติรับจำนำข้าวนาปรังในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังฤดูการผลิตปี 52 จำนวน 2.5 ล้านตัน ที่ราคา 11,800 บาท/ตัน ณ ระดับความชื้นไม่เกิน 15% ระยะเวลาเปิดรับจำนำตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.-31 ก.ค.52 โดยใช้งบประมาณราว 36,000 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายการรับจำนำข้าวจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวลดลงตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงตามตลาดโลก โดยข้อมูลล่าสุดดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ก.พ.52 หดตัวลงที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งคิดเป็นร้อยละ 40 ของกำลังแรงงานของประเทศ อย่างไรก็ตาม นโยบายรัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพภาคเกษตร ซึ่งพบว่าภาคการเกษตรของไทยยังมีประสิทธิภาพต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเช่น ผลผลิตข้าวของไทย ณ ปี 2551 เท่ากับ 427 ตันต่อไร่ เทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก 622 ตันต่อไร่
2. บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอเพิ่มจ้างงานประจำ-ลดจ้างงานชั่วคราว
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่าบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในเดือน ม.ค. 52 เงินลงทุนเกินกว่า 500 ล้านบาทจำนวน 370 บริษัท มีการจ้างพนักงานชั่วคราว 63,975 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 110,362 คนหรือร้อยละ 42และมีการจ้างพนักงานประจำ 440,472 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4 โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดจ้างพนักงานชั่วคราวและเพิ่มจ้างพนักงานประจำมากที่สุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่างการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่ลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมที่พึงพาการส่งออก ทั้งนี้คาดว่าในปี 2552 ปริมาณการส่งออกสินค้า จะหดตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมอย่างมาก ซึ่งผลกระทบต่อการจ้างงานนั้น คาดว่าหาก GDP ลดลงร้อยละ 1 จะทำให้มีการว่างงานเพิ่มขึ้น 3-5 แสนตำแหน่ง
3. G-20 เห็นแตกต่างในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก
  • ในการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศ (G-20) ในวันที่ 13 มี.ค. นั้น ท่าทีของประเทศต่าง ๆ เห็นแตกต่างกันในขนาดและรูปแบบของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก โดย ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐเห็นตรงกันว่ามาตรการเร่งด่วนที่สุดคือการเร่งสร้างเสถียรภาพในภาคการเงินโลกและกระตุ้นภาคเศรษฐกิจจริงเพื่อให้รอดพ้นจากความเสี่ยงเงินฝืด ขณะที่อังกฤษเสนอว่าควรทำข้อตกลงให้ประเทศต่าง ๆ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างน้อยร้อยละ 2 ของ GDP ในขณะที่ประเทศฝั่งยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และรัสเซีย ไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่ายุโรปได้ออกมาตรการขนาดใหญ่เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจแล้ว ขณะที่เห็นความสำคัญของการสร้างกลไกป้องกันมิให้เกิดวิกฤตในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่าวิกฤตการเงินโลกในปัจจุบันรุนแรงที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา โดย GDP โลกในไตรมาส 4 ปี 51 นั้นหดตัวเป็นครั้งแรกนับจากปี ค.ศ. 1945 ดังนั้นความจำเป็นเร่งด่วนของเศรษฐกิจโลกคือการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยในปัจจุบัน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งโลกมีขนาดรวมกันประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 8 ของ GDP โลก อย่างไรก็ตาม มาตรการส่วนใหญ่เป็นมาตรการกึ่งการคลังและ/หรือเงินอุดหนุนช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ภาคการเงิน ภาคยานยนต์ ในขณะที่เป็นการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อกระตุ้นการบริโภคและลงทุนโดยรวมเพียงประมาณร้อยละ 9 ของวงเงินกระตุ้นรวมเท่านั้น นอกจากนั้น ความล่าช้าในการออกกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจและการเบิกจ่ายงบประมาณในหลายประเทศอาจทำให้มาตรการเหล่านั้นไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทันการณ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ