รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 9 —13 มีนาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 19, 2009 12:25 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ดุลบัญชีเดินสะพัดประจำเดือนม.ค.52 ขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี

เมื่อวันที่ 9 มี.ค.52 กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดดุลบัญชีเดินสะพัดประจำเดือน ม.ค.52 ขาดดุลจำนวน 172.8 พันล้านเยน ซึ่งการขาดดุลเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี

สาเหตุจากการส่งออกลดลงร้อยละ 46.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้าส่งผลให้การค้าและบริการขาดดุลอย่างมากและติดต่อกันเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว รวมทั้งค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นและอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นต่ำส่งผลให้การลงทุนเข้ามาในญี่ปุ่นลดลงอย่างมาก ภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ และยุโรปส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างชัดเจนยิ่งมากขึ้น

ส่วนการเกินดุลรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลจากการลงทุนต่างประเทศก็ลดลงร้อยละ 31.5 เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรปถดถอยทำให้บริษัทญี่ปุ่นได้รับเงินปันผลจากต่างประเทศลดลงอย่างมาก รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยต่ำทำให้ได้รับเงินดอกเบี้ยจากพันธบัตรลดลงด้วย นอกจากนี้ค่าเงินเยนแข็งตัวขึ้นก็ทำให้รายได้ลดลงอย่างมาก ซึ่งค่าเงินเยนในเดือนมกราคม 2552 อยู่ที่ระดับ 90.41 เยนต่อดอลลาร์ แข็งค่าร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหน้า

2. เดือนก.พ.52 จำนวนบริษัทเอกชนล้มละลาย เพิ่มมากขึ้นร้อยละ 10.3

Tokyo Shoko Research Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนรวบรวมข้อมูลบริษัทล้มละลายของญี่ปุ่น เปิดเผยว่าเดือนก.พ.52 บริษัทเอกชนญี่ปุ่นล้มละลายเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า มีจำนวน 1,318 บริษัท เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 9 เดือนแล้ว และเป็นจำนวนมากที่สุดในรอบ 6 ปี โดยเป็นบริษัทก่อสร้างและบริษัทอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และ 51 ส่วนบริษัทการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เป็นผลมาจากบริษัทผลผลิตรถยนต์และอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยลดผลผลิตลงส่งผลให้บริษัทขนาดกลางและย่อมล้มละลายเพิ่มขึ้นอย่างมาก

3. ดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์โตเกียวตกลงเหลือ 7,054 เยนต่ำสุดในรอบ 26 ปี

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 ดัชนีราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวลดลงเหลือเพียง 7,054.98 เยน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 ปี นับตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม ปี 2525 เนื่องจากนักลงทุนต่างเทขาย โดยเฉพาะหุ้นของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจาก Real Sector ของญี่ปุ่น และบริษัทส่งออกที่ส่งสินค้าส่วนใหญ่ไปสหรัฐฯ และยุโรป หากราคาหุ้นยังคงลดลงต่อไปอีก ธนาคารก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะทำให้เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ลดลงอย่างรวดเร็ว และไม่ปล่อยเงินกู้แก่บริษัท

4. บริษัท Sapporo Beer นำระบบ Carbon Foot Print มาใช้ในสินค้า

บริษัท Sapporo Beer ได้ทดลองนำสินค้าที่ติดฉลากแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(Carbon Foot Print) ออกขายในแถบจังหวัด Hokkaido ซึ่งในฉลากมีเนื้อหาเกี่ยวกับว่าการผลิตเบียร์ขนาด 350 มิลลิลิตร 1 กระป๋อง จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 295 กรัม เท่ากับจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถที่วิ่งในระยะทาง 1.6 กิโลเมตร ซึ่งการคำนวนประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบจนถึงขั้นตอนการรีไซเคิลกระป๋องดังกล่าว

กระทรวง METI ได้กำหนดมาตรฐานในการคำนวนปริมาณก๊าซเรือนกระจกและการทำฉลากแสดงจำนวนปริมาณ ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2552 ซึ่งการแสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้ จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคตัดสินในเลือกซื้อเบียร์ยี่ห้อที่สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อม นอกจากราคาและรสชาติของเบียร์ก็ได้

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ