ประเด็นร้อนในเวทีโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 23, 2009 10:33 —กระทรวงการคลัง

ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงิน ความร่วมมือกันในระดับนานาชาติที่จะแก้ไขปัญหาวิกฤตครั้งนี้ก็ยังไม่สามารถที่จะลดความรุนแรงและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ ได้อย่างชัดเจน เมื่อกลุ่มผู้นำเศรษฐกิจโลกเดี้ยง เราก็เดี้ยงตามไปด้วย ที่เคยมีการพูดกันเมื่อ 2 ปีก่อนว่าเศรษฐกิจของเอเชียยืนได้ด้วยตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้องและพึ่งพาเศรษฐกิจของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด วิกฤตการณ์ครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความเชื่อที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวเป็นเพียงนิยายปรัมปรา

ในขณะนี้แต่ละประเทศกำลังพยายามแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของตน เมื่อประสบปัญหาข้อจำกัดภายในประเทศในด้านต่างๆ เช่นนโยบายการเงิน และนโยบายการคลัง ก็ทำให้แต่ละประเทศเริ่มชี้นิ้วโทษกันและกันว่าเป็นสาเหตุของวิกฤตและต้องรีบแก้ไขที่ต้นเหตุเสียก่อน จึงมีการหยิบยกประเด็นที่เป็นปัญหา และสมควรที่จะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว มีการถกเถียงกันจนกลายเป็นประเด็นร้อน ดังต่อไปนี้

1. ความร่วมมือและประสานงานกันระหว่างผู้กำกับดูแลมีปัญหา ทั้งระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ และระหว่างประเทศในยุโรปกันเอง เชื่อหรือไม่ว่า แม้กระทั่งผู้กำกับดูแลยังแข่งขันกันเอง ซึ่งทำให้การประสานงานเป็นไปได้ยาก ผู้กำกับดูแลที่ต้องการสนับสนุนธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของตน ก็มักจะออกกฎเกณฑ์เพื่อมาเกื้อหนุนให้ธุรกิจในประเทศตนหรือภายใต้การกำกับดูแลของตนได้รับประโยชน์ เพื่อให้ธุรกิจการเงินของประเทศตนขยายขอบเขตกว้างขวางและสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งให้ประเทศตนเองได้ประโยชน์ทางธุรกิจจากการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน กฎเกณฑ์ที่แตกต่างหลายเรื่องระหว่างยุโรปกับสหรัฐฯ เป็นหลักฐานที่ชัดเจน แม้กระทั่งในยุโรปเอง ความขัดแย้งลึกๆ ก็เกิดขึ้น เนื่องจากบางประเทศ เช่น Luxemburg หรือ Iceland พยายามปรับระเบียบกฎเกณฑ์ในการทำธุรกิจสถาบันการเงินให้ได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในยุโรป (ประเทศไทยเอง ความขัดแย้งบางครั้งก็มีอยู่บ้างระหว่างองค์กรกำกับดูแล เนื่องจากมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่นระหว่างสนับสนุนตลาดทุน กับสนับสนุนธนาคารพาณิชย์) ดังนั้นวิธีแก้คือ ต้องพยายามให้มีความร่วมมือระหว่างผู้กำกับดูแลในประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น และอาจรวมไปถึงการที่ต้องรวมหรือเชื่อมโยงหน่วยงานกำกับดูแลเข้าไว้ด้วยกัน

2. การทำธุรกิจการเงินและตราสารหรือเครื่องมือทางการเงินจำนวนมากอยู่นอกการกำกับดูแล เช่น Hedge Fund, Private Equity, Credit Default Swap (CDS) และตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมการเงินที่ไม่ได้ถูกกำกับดูแลเหล่านี้มีมูลค่าถึง 50% ของปริมาณธุรกรรมการเงินทั้งหมดในโลก (จากการประเมินตัวเลขของธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ BIS) ธุรกรรมการเงินเหล่านี้ทำกันนอกตลาดทางการ นอกการกำกับดูแล ขาดความโปร่งใส ขาดมาตรฐานการควบคุมพฤติกรรมและการกำกับดูแลตนเอง ทำให้เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ที่รอวันกลายเป็นปัญหาวิกฤต ดังนั้นจึงมีการเรียกร้องให้การทำธุรกรรมการเงินและการออกตราสารหรือเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้ อยู่ภายใต้การกำกับดูแล และให้มีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลพฤติกรรมของตลาดการเงิน (Market Conduct Regulator) เพื่อติดตามควบคุมกำกับดูแลกิจกรรมทางการเงินที่มีผลกระทบต่อตลาดการเงินโลก

3. ราคาสินทรัพย์ทางการเงินทั่วโลกลดลงอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อสถาบันการเงิน ตราสารหนี้ หุ้นกู้ของภาคเอกชน และตราสารการลงทุนแทบทุกประเภท ทำให้เกิดการล้มละลายของสถาบันการเงินหลายแห่ง และหลายแห่งขาดทุนจนมีปัญหาทางการเงิน มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ การยึดถือกฎเกณฑ์มาตรฐานสากลในด้านความมั่นคง และการบันทึกบัญชีที่ถูกต้อง เพื่อสะท้อนฐานะทางการเงินที่แท้จริงอยู่ตลอดเวลา ตามหลัก Fair Market Value และ Mark to Market เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้ย่ำแย่กว่าเดิม ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องมีฐานะทางการเงินแย่ลง และทำให้สถาบันการเงินและนักลงทุนไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ หรือลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งมีความไม่เชื่อมั่นในมูลค่าสินทรัพย์และตราสารการเงิน สภาพคล่องและเงินที่จะสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ฝืดเคือง ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบการให้ยกเลิกหลักเกณฑ์ Fair Market Value และ Mark to Market ซึ่งยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ว่า ควรจะทำตามเสียงเรียกร้องหรือไม่ ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยคิดว่าจะทำให้เกณฑ์ความมั่นคงและวินัยทางการเงินที่ถูกต้องหายไป และอาจทำให้เกิดการเก็งกำไรมากขึ้น ฝั่งที่เห็นควรให้ยกเลิกคิดว่า เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้ไม่ปกติ ควรหยุดใช้ไปก่อน ล่าสุดมีแนวโน้มว่า สหรัฐฯ โดย Fed อาจมีการผ่อนปรน หรือหยุดใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวชั่วคราว เพื่อให้วิกฤตสถาบันการเงินคลี่คลายลงก่อน ผมหวังว่าเราคงจะได้เห็น 3 ประเด็นสำคัญข้างต้นได้รับการแก้ไขในไม่ช้าก่อนที่จะเกิดการทรุดตัวของวิกฤตลงอีก จนกลายเป็นภาวการณ์ถดถอยครั้งใหญ่ทั่วโลก (Depression)

โดย ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ email: fsa@fpo.go.th

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ