รายจ่ายรัฐบาลประจำเดือน ก.พ. 52 รัฐบาลเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 179.7 พันล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 51.4 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายที่สูงดังกล่าวเป็นการเบิกจ่ายในส่วนของงบประจำจำนวน 132.7 พันล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.5 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายชดใช้เงินคงคลังจำนวน 27.5 พันล้านบาท ขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 33.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 217.0 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เบิกจ่ายงบเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 26.0 พันล้านบาท สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 (ต.ค.51-ก.พ.52) รัฐบาลเบิกจ่ายจำนวน 776.4 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.8 ต่อปี โดยเป็นรายจ่ายในส่วนของงบประมาณประจำปีจำนวน 706.9 พันล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 38.5 ของกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 1.835 ล้านล้านบาท
มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือน ก.พ. 52 หดตัวที่ร้อยละ -11.3 ต่อปี หดตัวน้อยลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -26.5 ต่อปี โดยปริมาณการส่งออกหดตัวถึงร้อยละ -11.4 ต่อปี ในขณะที่ราคาขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี อย่างไรก็ดี หากไม่รวมการส่งออกทอง ซึ่งมีการขยายตัวของมูลค่าส่งออกสูงถึงร้อยละ 1,148 ต่อปี มูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวถึงร้อยละ -24.6 ต่อปี ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักมีการหดตัวแทบทุกหมวด โดยสินค้าเกษตร เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้ายานยนต์หดตัวลงถึงร้อยละ -16.5 -30.1 -33.3 และ -33.2 ต่อปี ตามลำดับ โดยเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ราคาสินค้าส่งออกสำคัญลดลง และปัจจัยฐานสูง ในด้านมิติคู่ค้า การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ได้แก่ ยูโรโซน สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ มีการหดตัวที่ร้อยละ -31.3 -24.8 -28.8 -28.9 และ -34.2 ต่อปี ตามลำดับ มีเพียงการส่งออกไปยังออสเตรเลีย ฮ่องกง และสวิตเซอร์แลนด์ที่ขยายตัวดี โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวถึงร้อยละ 1,083 ต่อปี ผลจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวถึงร้อยละ 5,106 ต่อปี
มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือนก.พ. 52 หดตัวที่ร้อยละ -40.3 ต่อปี โดยปริมาณนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -35.6 ต่อปี และราคาหดตัวที่ร้อยละ -7.3 ต่อปี อันเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าหดตัวในทุกหมวด โดยสินค้าวัตถุดิบหดตัวที่ร้อยละ -48.8 ต่อปี เป็นสัญญาณของการผลิตในประเทศที่จะหดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในขณะที่สินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวที่ร้อยละ -16.1 และ -21.0 ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ในประเทศที่หดตัวลง และสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวที่ร้อยละ -56.0 ต่อปี ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลง ทั้งนี้ จากมูลค่านำเข้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออก ทำให้ดุลการค้าเดือน ก.พ. 52 เกินดุลที่ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือน ก.พ. 52 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี เนื่องจากการชะลอตัวของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน อันเป็นผลจากราคาที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงไม่จูงใจให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ประกอบกับผลผลิตสุกรลดลง เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเลี้ยง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.พ. 52 คาดว่ามีจำนวน 1.2 ล้านคน หดตัวลงร้อยละ -21.5 ต่อปี คิดเป็นการหดตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนส.ค. 51 ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในทางการเมืองในประเทศจนทำให้มีการปิดสนามบินในจังหวัดต่างๆ ทั้งนี้ การหดตัวต่อเนื่องส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยภายนอกที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพือการท่องเที่ยวลดลง
ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 52 คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ -29.0 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงร้อยละ -25.6 ต่อปี ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกยังคงมีแนวโน้มหดตัวลงมาก โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ลดลงมาก ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดทั้งในและต่างประเทศ อาทิ สิ่งทอ และเครื่องหนัง ก็มีแนวโน้มลดลงมากเช่นกัน
ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากตลาดคลายความกังวลต่อวิกฤติการณ์สถาบันการเงินสหรัฐจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ประกอบกับตัวเลขยอดการสร้างบ้าน (Housing starts) ของสหรัฐฯ ณ เดือน ก.พ. ปรับตัวเพิ่มมากกว่าคาดมาอยู่ที่ร้อยละ 22.2 ทำให้นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น นักลงทุนจึงลดความต้องการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (safe haven) ลง นอกจากนั้น การที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0 — 0.25 และประกาศเข้าซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเพื่อผ่อนคลายแรงกดดันต่อสภาพคล่อง (Quantitative easing) และลดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวลง ส่งผลให้ตลาดคาดว่าจะเกิดภาวะสภาพคล่องเงินดอลลาร์สหรัฐจะเพิ่มขึ้นมาก และลดความต้องการของดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ
ในขณะเดียวกัน ค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นมาอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และการได้ข้อสรุปในการประชุมของกลุ่มผู้นำของยุโรปที่ตัดสินใจที่จะเพิ่มเพดานวงเงินการช่วยเหลือประเทศสมาชิกจากเดิมที่อยู่ที่ 12 พันล้านยูโรมาเป็น 25 พันล้านยูโร รวมถึงตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ (ZEW Index) ของเยอรมนีที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ ในขณะที่ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์แข็งค่าขึ้นที่ร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ทำนโยบายการเงินแบบ Quantitative easing โดยการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษเป็นครั้งที่สามเป็นจำนวนถึง 3 พันล้านปอนด์สเตอลิงค์ก็มีส่วนช่วยทำ ให้ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ด้านสกุลเงินเอเชียรวมทั้งเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐโดยมีปัจจัยหลักการลดการถือดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเพื่อมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคมากขึ้นประกอบกับการคลายความวิตกกังวลต่อภาวะขาดแคลนสภาพคล่องของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ค่าเงินวอนในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ถึงร้อยละ 6.3 โดยได้รับปัจจัยเสริมจากตัวเลขดุลการค้าของเกาหลีใต้ประจำเดือน มี.ค. ที่เกินดุลมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่กว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งการที่รัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมจัดตั้งกองทุนเพื่อการซื้อหนี้เสียโดยตั้งวงเงินไว้ที่ 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ค่าเงินวอนแข็งค่าขึ้นเช่นกัน
ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมาอยู่ที่ระดับ 35.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับวอนเกาหลี (ร้อยละ 8.0) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ 7.6) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 3.7) เงินเยน (ร้อยละ 2.6 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 3.2) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 1.2) ) ยูโร (ร้อยละ 0.6) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 1.8) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 1.8) หยวน (ร้อยละ 1.8) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 1.0) และเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 0.3) ตามลำดับ
ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 13 มี.ค. 52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 117.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 1.30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เป็นการลดลงของ Forward Obligation จำนวน -0.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการตีค่ามูลค่าทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐลดลงValuation Loss) จากการที่ค่าเงิน EU และ JPY แข็งค่าขึ้นในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว ร้อยละ 2.32 และ 0.43 ตามลำดับ ประกอบกับคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะเข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท สะท้อนถึงทุนสำ รองระหว่างประเทศสุทธิที่เพิ่มขึ้นยังไม่เพียงพอกับความต้องการขายเงินตราต่างประเทศของผู้ส่งออกและผู้ถือครองเงินสกุลตราต่างประเทศจึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (6 มี.ค.52) ร้อยละ -0.60 จาก 36.11 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 35.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้
ยอดสร้างบ้านใหม่สหรัฐฯเดือนก.พ.52 ขยายตัวถึงร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ที่ 583,000 หลัง โดยเป็นการขยายตัวของอาคารชุดให้เช่า อาคารชุดขายขาด และทาวน์เฮาส์ ในขณะที่ใบอนุญาตก่อสร้างเดือน ก.พ.52 ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่งสัญญาณว่าภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นชนวนของเศรษฐกิจฟองสบู่และวิกฤตการเงินที่ลุกลามไปถึงภาคเศรษฐกิจจริงทั่วโลก ส่งสัญญาณความเป็นไปได้ที่จะฟื้นตัว
ดุลการค้าและบริการสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 52 ขาดดุลน้อยที่สุดในรอบ 6 ปีที่ -36.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนธ.ค.51 ที่ขาดดุล -39.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ตัวเลขปรับปรุง) ผลจากการนำเข้าที่หดตัวเร็วกว่าการส่งออก ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงและอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐในเดือน ก.พ.52 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อปีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.0 ต่อปี ลดความกังวลต่อความเสี่ยงด้านเงินฝืดซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยยาวนานขึ้นโดยราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี ในขณะที่ราคาสินค้าหมวดที่พักและโรงแรม และราคาสินค้าหมวดพลังงาน ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.7 และร้อยละ -21.4 ต่อปี ตามลำดับ บ่งชี้ถึงอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงถดถอย
อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือนก.พ. 52 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในเดือน ม.ค. 52 โดยเป็นผลมาจากต้นทุนด้านเชื้อเพลิงประเภทก๊าซและค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาอาหารเพิ่มขึ้นตามราคาผักและเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาน้ำมันและอาหารอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ลดลงเล็กน้อยจากเดือน ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 1.8 สะท้อนว่าเศรษฐกิจของยูโรโซนกำลังอ่อนแอลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถกำหนดราคาสินค้าให้สูงขึ้นได้
ยอดค้าปลีกของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือนม.ค. 52 หดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี หดตัวลงต่อเนื่องจากเดือน ธ.ค. 51 ทึ่หดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าอุปสงค์ต่อสินค้าของผู้บริโภคยังคงลดลงต่อเนื่องจากภาวะการจ้างงานที่ลดลง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนน่าจะยังคงอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องออกไปอีก
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) ของญี่ปุ่นเดือน ก.พ. 52 อยู่ที่ 26.7 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 26.4 สะท้อนถึงความรู้สึกเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนเกี่ยวกับรายได้และการมีงานทำที่อยู่ในระดับต่ำ ท่ามกลางสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งเข้าแทนที่ความกังวลเดิมด้านราคาพลังงงานและอาหารที่ลดลง
อัตราการว่างงานฮ่องกงเดือน ก.พ.52 พุ่งสูงสุดในรอบ 32 เดือน ที่ร้อยละ 5.0 ผลของการเลิกจ้างงานจำนวนมากของบริษัทใหญ่หลายแห่งโดยตำแหน่งงานใหม่ในภาคเอกชนหดตัวลงถึงร้อยละ -4.3 ต่อปี สะท้อนให้เห็นภาพเศรษฐกิจฮ่องกงที่อยู่ในภาวะถดถอยได้ชัดเจน
ดัชนีขายปลีกของสิงคโปร์เดือน ม.ค.52 แตะระดับต่ำสุดในรอบทศวรรษ ที่ 114.1 หรือหดตัวร้อยละ -12.2 ต่อปี เนื่องจากการซื้อสินค้าประเภทรถยนต์ สินค้าในครัวเรือน และสินค้าฟุ่มเฟือยลดลงต่อเนื่องตลอดจนการที่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในสิงคโปร์มีจำนวนลดลง
การส่งออกสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมัน (Non-Oil Domestic Export ;NODX) ของสิงคโปร์เดือนก.พ. 52 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -23.7 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าออกจากสิงคโปร์ลดลง โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เวชภัณฑ์ และปิโตรเคมี ซึ่งล้วนเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศ
ยอดขายสินค้าอุตสาหกรรมของมาเลเซียเดือนม.ค.52 หดตัวร้อยละ-22.7 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -21.0 ต่อปี โดยเป็นผลจากอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่มีต่อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ชะลอตัวลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลผลิตอุตสาหกรรมและการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือน ม.ค. 52 ที่หดตัวร้อยละ -20.2 และ -33.2 ต่อปี ตามลำดับ
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th