รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 มีนาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 23, 2009 11:57 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 มี.ค. 2552

SUMMARY:

1. สภาพัฒน์ชงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.4 ล้านล้านเข้าครม.

2. กระทรวงพาณิชย์เดินโครงการบุกตลาดใหม่ 14 ประเทศขยายการค้าการลงทุน

3. ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยลดลงมากหลัง Fed เข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐ

HIGHLIGHT:
1. สภาพัฒน์ชงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ1.4 ล้านล้านเข้าครม.
  • เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เตรียมเสนอให้รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พิจารณาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเวลา 3 ปี(2552-2554) วงเงินประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบที่ได้จากรายได้ 3 ปีของรัฐบาลและเงินกู้ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันที่ 25 มี.ค.52
  • ทั้งนี้ รัฐบาลวางแผนนำงบกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวอัดฉีดเงินครอบคลุมโครงการ Mega Projects 6 ด้าน ประกอบด้วย โครงการด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านคมนาคม ด้านการเกษตร ด้านที่อยู่อาศัย และ ด้านการพัฒนาสังคม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ1.4 ล้านล้าน นับเป็นส่วนหนึ่งของแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจที่คาดว่าจะยังมีอยู่ต่อไปในอนาคต หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปี 2552 จำนวน 1.16 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน Mega Projects ของภาครัฐจะเป็นตัวหลักในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสภาวะที่การลงทุนจากภาคเอกชน ชะลอตัว ทั้งนี้ หากภาครัฐสามารถเบิกจ่ายเงินได้ 100 แสนล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อีกร้อยละ 1.0
2. กระทรวงพาณิชย์เดินโครงการบุกตลาดใหม่ 14 ประเทศขยายการค้าการลงทุน
  • กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยจะเดินทางไปเยือนหลายประเทศ อาธิเช่น กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย เพื่อขยายการค้าและการลงทุน และสำหรับโครงการบุกตลาดใหม่ 14 ประเทศ จะเน้นการสนับสนุนสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดต่างๆ เช่น ตลาดจีน จะเน้นสินค้าข้าว มันสำปะหลัง ตลาดอาเซียน (5 ประเทศ) จะเน้น มันสำปะหลัง ผัก ผลไม้ ตลาดอินเดีย-บังคลาเทศ-ปากีสถาน จะเน้นเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง อัญมณี ตลาดญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ จะเน้นมันสำปะหลัง สิ่งพิมพ์และสิ่งทอ เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออก ไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญ 14 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศหลัก เช่น ยุโรป (มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12.0) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 11.4) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 11.3) และ จีน (ร้อยละ 9.1) เป็นต้น โดยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ได้ส่งผลให้การส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 หดตัวที่ร้อยละ -19.2 ต่อปี ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันการส่งออกไปยังตลาดใหม่ หากจะให้บรรลุเป้าหมายมูลค่าการส่งออกที่ร้อยละ 0-3 ต่อปี ในปี 2552
3. ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของไทยลดลงมากหลัง Fed เข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐ
  • ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (Yield Curve) ของไทยปรับตัวลดลงมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (16-20 มี.ค. 51) โดยพันธบัตร 10 ปีปรับลดลงไปประมาณ 15 Basis Point ซึ่งเป็นการปรับตัวลงตามพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และซื้อตราสารหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจำนองออกไปเพื่อช่วยตลาดสินเชื่อ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการที่ Yield Curve ระยะยาวปรับตัวลดลง น่าจะมาจาก (1) ปัจจัยในประเทศจากการที่อุปสงค์ของพันธบัตรระยะยาวของไทยมีมากขึ้น ตามความคาดหวังว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อาจจะปรับตัวลดลงทำให้มีการลงทุนในพันธบัตรระยะยาวและ (2) ปัจจัยภายนอกประเทศจากการที่ธนาคารกลางของสหรัฐ (FED) จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (Quantitative Easing) โดยเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาว ส่งผลให้อุปสงค์ของพันธบัตรระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การที่ Fed เข้าซื้อพันธบัตรทั้งระยะสั้นและยาวอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มมากขึ้น และอาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงมากในอนาคต ซึ่งอาจทำให้การบริหารจัดการค่าเงินบาทของไทยในอนาคตยากลำบากขึ้นเช่นกัน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ