รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 26, 2009 10:17 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2552 ณ เดือนมีนาคม ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2552 มีแนวโน้มหดตัวที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -3.0 ถึง -2.0 ต่อปี) ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.6 ต่อปี เนื่องจาก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยหดตัวรวดเร็วและรุนแรงกว่าที่คาด นอกจากนี้ การใช้จ่าย ภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัว ตามยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและในประเทศที่ลดลง ในขณะที่การบริโภคภาค เอกชนยังฟื้นตัวช้า เนื่องจากรายได้ของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง ตามรายได้เกษตรกรที่ลดลงจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ประกอบกับ ความไม่แน่นอนในเรื่องการจ้างงาน ทั้งนี้ บทบาทสำคัญในการชะลอการหดตัวของเศรษฐกิจไทย ขึ้นอยู่กับการเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐผ่าน รายจ่ายเพื่อการบริโภคและรายจ่ายเพื่อการลงทุน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและประคับประคองให้อุปสงค์ภายในประเทศไม่หดตัวลงอย่างรุนแรงมากนัก สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2552 จะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ ร้อยละ 0.2 ถึง 1.2 ต่อปี) ตามราคาน้ำมันที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพภายในคือ อัตราการว่างงานที่คาดว่าจะ เพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2552 จะเกินดุลมากถึงร้อยละ 9.8 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.5 ถึง 10.0 ของ GDP) เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงในสัดส่วนที่สูงมากกว่ามูลค่าการส่งออก โดยมี รายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -3.0 ถึง -2.0 ต่อปี) เนื่องจาก การส่งออกสินค้าและบริการหดตัวลงมาก ตามการหดตัวอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าที่คาดของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย โดยปริมาณการ

ส่งออกสินค้าและบริการในปี 2552 คาดว่าจะหดตัวลงมากมาอยู่ที่ร้อยละ        -14.8 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -15.3 ถึง -14.3
ต่อปี) สำหรับปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะหดตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ -25.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -25.7 ถึง -24.7
ต่อปี) ตามการส่งออกที่ลดลงและการชะลอตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะหดตัวมาอยู่ที่ร้อยละ -6.1
ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -6.5 ถึง -5.5 ต่อปี) ตามการตัดสินใจที่จะชะลอการลงทุนของนักลงทุน จากยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและ
ในประเทศที่หดตัวลง ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.0 ถึง
1.5 ต่อปี) เนื่องจากรายได้ของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มลดลง ตามรายได้เกษตรกรที่

ลดลงตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ประกอบกับความไม่แน่นอนในเรื่องการจ้างงาน เพราะมีแรงงานจำนวนมากที่ถูกปรับลด ชั่วโมงการทำงานลง และอัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนได้รับปัจจัยบวกจากงบประมาณรายจ่าย เพิ่มเติมกลางปีที่เอื้อให้ภาคครัวเรือนมีการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงการที่ค่าครองชีพที่ลดลงมากตามอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง

ทั้งนี้ บทบาทสำคัญในการชะลอการหดตัวของเศรษฐกิจไทย ขึ้นอยู่กับการเร่งรัดการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านรายจ่ายเพื่อการบริโภค และรายจ่ายเพื่อการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและประคับประคองให้อุปสงค์ภายในประเทศไม่หดตัวลงอย่างรุนแรงมากนัก โดยคาดว่า การบริโภคภาครัฐในปี 2552 จะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 13.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.0 ถึง 14.0 ต่อปี) และคาดว่าการ ลงทุนภาครัฐในปี 2552 จะเร่งตัวขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.0 ถึง 8.0 ต่อปี)

2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 มีแนวโน้มจะ ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 0.2-1.2 ต่อปี) เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะปรับลดลงมากจากปี 2551 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาน้ำมันและราคาอาหารสด จะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 0.7-1.7 ต่อปี) อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพภายในคือ อัตราการว่างงานที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ของ กำลังแรงงาน (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ถึง 4.3 ของกำลังแรงงาน) ตามภาวะเศรษฐกิจที่ หดตัว ในด้านเสถียรภาพภายนอก ประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลสูงมากถึงร้อยละ 9.8 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 9.5 ถึง 10.0 ของ GDP) เนื่องจากการเกินดุลการค้าสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 22.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 21.8 ถึง 22.8 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ) การที่ดุลการค้าเกินดุลมหาศาลเกิดจากมูลค่าสินค้านำเข้าหดตัวลงมากกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก โดยคาดว่ามูลค่าส่งออกจะหดตัวร้อยละ -20.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ -21.0 ถึง -20.0 ต่อปี) ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าคาดว่าจะหดตัวมากจากฐานสูงในปีก่อนมาอยู่ ที่ร้อยละ -33.2 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ ร้อยละ -33.7 ถึง -32.7 ต่อปี)

รายละเอียดสรุปผลการประมาณการเศรษฐกิจปรากฏตามเอกสารแนบ

ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2552 (ณ เดือนมีนาคม)

                                                                 2551         2552 f         2552 f (ณ มีนาคม 2552)
                                                                         (ณ ธันวาคม 2551)              เฉลี่ย                    ช่วง

สมมติฐานหลัก สมมติฐานภายนอก

1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 14 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี)                  2.8            1                      -2               (-2.2) - (-1.7)
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล)                           95            55                     50                  45.0-55.0
สมมติฐานด้านนโยบาย
3) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ)                               33.2           35                    36.2                 35.5-36.5
4) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละต่อปี)                       2.75          0.75                   0.75                 0.50-1.00
5) รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณ (ล้านล้านบาท)                      2.17          2.42                   2.5                  2.49-2.51

ผลการประมาณการ

1)  อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี)                           2.6            1                     -2.5              (-3.0) — (-2.0)
2) อัตราการขยายตัวของการบริโภครวม (ร้อยละต่อปี)                        2.2           3.1                     3                   2.5 — 3.5
    - การบริโภคภาคเอกชน ( ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                   2.5           2.2                    1.2                  1.0 — 1.5
    - การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                       0.4           8.3                     13                 12.0 — 14.0
3) อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวม (ร้อยละต่อปี)                         1.1           3.7                    -2.9              (-3.5) — (-2.5)
    - การลงทุนภาคเอกชน ( ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                    3.2            3                     -6.1              (-6.5) — (-5.5)
    - การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                        -4.8          5.9                     7                   6.0 — 8.0
4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                5.5           0.6                   -14.8             (-15.3) — (-14.3)
5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                7.5           1.2                   -25.2             (-25.7) — (-24.7)
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)                                    0.2           -2.7                   22.3                21.8 — 22.8
     - สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี)                       16.8          -2.7                  -20.5             (-21.0) — (-20.0)
     - สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี)                       26.4          -2.8                  -33.2             (-33.7) — (-32.7)
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)                               -0.2          -3.7                   24.7                24.2 — 25.2
     - ร้อยละของ GDP                                              -0.1          -1.4                   9.8                 9.5 — 10.0
 8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี)                                    5.5            1                     0.7                  0.2 — 1.2
     อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละต่อปี)                                  2.3           0.8                    1.2                  0.7 — 1.7
9) อัตราการว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม)                         1.4           2.5                    3.8                  3.3 - 4.3

หมายเหตุ: ประมาณการเศรษฐกิจปี 2552 ณ เดือนมีนาคม 2552 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. (02) 273-9020 ต่อ 3252

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 36/2552 25 มีนาคม 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ