นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ว่า เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีสัญญาณของการหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกหดตัวลงมาก อย่างไรก็ตาม การนำเข้าที่ลดลงมากทำให้การส่งออกสุทธิและดุลการค้าเกินดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ทั้งนี้ การเร่งเบิกจ่ายภาครัฐมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนชะลอตัวลง สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี จากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่มีความเสี่ยงจากอัตราการว่างงานที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนถึงเสถียรภาพภายนอกที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนกุมภาพันธ์หดตัวรุนแรงขึ้นที่ร้อยละ -24.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -16.2 ต่อปี สะท้อนภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศที่หดตัวลงอย่างชัดเจน สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวร้อยละ -22.0 ต่อปี และปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่หดตัวลงที่ร้อยละ -16.6 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในส่วนภูมิภาค เช่น ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองที่ร้อยละ -16.7 ต่อปี เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวลดลงจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลง และส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนในส่วนภูมิภาค
2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หดตัวต่อเนื่องเช่นกัน โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหดตัวที่ร้อยละ -14.9 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวลงต่อเนื่องที่ร้อยละ -38.1 ต่อปีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 สะท้อนถึงการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกับเครื่องชี้การลงทุนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมหดตัวร้อยละ -12.7 ต่อปี หดตัวลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี โดยเป็นผลจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอลงตัวส่งผลทำให้ปริมาณธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลง
3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 พบว่า รายได้รัฐบาลสุทธิประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 จัดเก็บได้สุทธิ 82.4 พันล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -29.1 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้า และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่จัดเก็บได้ลดลง สะท้อนภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลงมาก ทั้งนี้ภาษีฐานรายได้และภาษีฐานการบริโภคหดตัวที่ร้อยละ -1.8 ต่อปี และร้อยละ -25.2 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับรายจ่ายรัฐบาลประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2552 รัฐบาลเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 179.7 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 51.4 ต่อปี โดยเป็นการเบิกจ่ายของงบประจำจำนวน 132.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.5 ต่อปี ขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 33.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นในระดับสูงมากถึงร้อยละ 217.0 ต่อปี เนื่องจากรัฐบาลได้เบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนที่เป็นเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 26.0 พันล้านบาท ทั้งนี้ การใช้จ่ายงบประมาณที่ขยายตัวได้ในระดับสูงสะท้อนถึงบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังคงชะลอตัว
4. การส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หดตัวลงต่อเนื่องเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวร้อยละ -11.3 ต่อปี โดยปริมาณการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -11.1 ต่อปี ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่หดตัวลดลงเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -26.5 ต่อปี เนื่องจากมูลค่าการส่งออกทองคำที่ขยายตัวในระดับสูงมากที่ร้อยละ 1,148 ต่อปี อย่างไรก็ดีหากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกสินค้ายังคงหดตัวในระดับสูงถึงร้อยละ -24.6 ต่อปี ทั้งนี้สินค้าส่งออกหลักมีการหดตัวแทบทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เครื่องเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้ายานยนต์ ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่หดตัวลงในเกือบทุกตลาด ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อยู่ที่ 8.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -40.3 ต่อปี โดยปริมาณนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -37.0 ต่อปี และราคาสินค้านำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -5.3 ต่อปี อันเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าหดตัวในทุกหมวด ทั้งสินค้าวัตถุดิบ สินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าเชื้อเพลิง สะท้อนให้เห็น ถึงความต้องการผลิตและความต้องการใช้จ่ายภายในประเทศที่หดตัวลง ทั้งนี้ มูลค่านำเข้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออก ทำให้การส่งออกสุทธิและดุลการค้าเกินดุลสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
5. สำหรับเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านอุปทานของเดือนกุมภาพันธ์ 2552 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมมีการหดตัวลงมาก และภาคบริการจากการท่องเที่ยวมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการเกษตรยังสามารถขยายตัวได้ แม้ว่าจะชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การผลิตภาคอุตสาหกรรมวัดจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงถึงร้อยละ -23.3 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งเป็นผลจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกที่หดตัวลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ลดลงมากขณะที่อุตสาหกรรมที่เน้นตลาดทั้งในและต่างประเทศ อาทิ สิ่งทอ และเครื่องหนัง ปรับตัวลดลงมากเช่นกัน เช่นเดียวกับอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง ด้านภาคบริการจากการท่องเที่ยวหดตัวลงต่อเนื่องเช่นกัน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 1.2 ล้านคน หดตัวลงร้อยละ -21.5 ต่อปี โดยการหดตัวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยวิกฤตเศรษฐกิจโลก ด้านเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อปี เนื่องจากการชะลอตัวของผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน อันเป็นผลจากราคาที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงไม่จูงใจให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว
6. เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์หดตัวร้อยละ -0.1 ต่อปี หดตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.4 ต่อปี โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อหดตัวลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 12.0 เนื่องจากมีการยกเลิกมาตรการปรับลดภาษี สรรพสามิตน้ำมัน ด้านอัตราการว่างงานในเดือนมกราคม 2552 ที่ร้อยละ 2.4 ของกำลังแรงงานรวมปรับตัวสูงขึ้นเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 38.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของปีงบประมาณ 2552 แต่ยังถือว่าต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50 ค่อนข้างมากสำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อยู่ในระดับสูงที่ 113.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 4 เท่า
ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th