รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 23-27 มีนาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 30, 2009 11:57 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 52 มีจำนวนทั้งสิ้น 3,542.86 พันล้านบาทหรือร้อยละ 39.3 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 71.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นสุทธิ 73.8 พันล้านบาท จากการออกตั๋วเงินคลังและพันธบัตรรัฐบาลจำนวน 65.0 พันล้านบาทและ 19.0 พันล้านบาท ตามลำดับ หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันเพิ่มขึ้นสุทธิ 25.8 พันล้านบาทจากการเบิกจ่ายเงินกู้ระยะสั้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจำนวน 28.0 พันล้านบาท สำหรับหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ลดลง 23.4 พันล้านบาท จากการซื้อคืนพันธบัตรของกองทุนฟื้นฟูฯ ทั้งนี้ ร้อยละ 88.4 และร้อยละ 93.3 ของหนี้สาธารณะคงค้าง เป็นหนี้ในประเทศและเป็นหนี้ระยะยาว ตามลำดับ

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ.52 หดตัวร้อยละ -23.1 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 นับจากเดือน ต.ค. 51 เป็นต้นมา เนื่องจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ -19.5 -41.7 และ -50.6 ต่อปี ตามลำดับ จากภาวะอุปสงค์ของการต่างประเทศที่หดตัวลง ขณะเดียวกันการผลิตหมวดสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดภายในประเทศ อาทิ หมวดอาหาร และการปั่นการทอ ก็ยังคงหดตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจไทยเช่นกัน ที่ร้อยละ -1.9 และ -24.0 ต่อปี สอดคล้องกับ อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนนี้ปรับลดลงเหลือเพียง 49.8 ต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงไปมากได้แก่ยานยนต์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า โดยลดเหลือเพียง 41.8 53.3 และ 50.2 ตามลำดับ

สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ 18 แห่งในเดือน ก.พ. 2552 ขยายตัวต่ำลงในอัตราร้อยละ 7.9 ต่อปี สินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศจำนวน 18 แห่ง ณ เดือน ก.พ. 2552 ขยายตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 7.9 ต่อปี ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.0 โดยสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ระดับ 5,732.7 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 5,786.2 พันล้านบาท หรือคิดเป็นการชะลอตัวที่ร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทั้งนี้สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการขยายตัวของสินเชื่อสูงที่สุดได้แก่ ธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทย

เงินฝากรวมของธนาคารพาณิชย์ 18 แห่งในเดือน ก.พ. 2552 ขยายตัวลดลงต่อเนื่องที่อัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี โดยเงินฝากรวมอยู่ที่ระดับ 6,612.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 6,532.0 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทั้งนี้ สำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการขยายตัวของเงินฝากสูงที่สุดได้แก่ ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและเล็กที่มีมูลค่าการขยายตัวของสินเชื่อและเงินฝากสูงที่สุดได้แก่ธนาคารธนชาติ

Economic Indicators: Next Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค. 52 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.1 ต่อปีขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงร้อยละ -0.1 ต่อปี ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้า คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปจะขยายตัวร้อยละ 0.8 เนื่องจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 5 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลก ประกอบกับราคาสินค้าประเภทข้าวสาร ผักและผลไม้ มีราคาปรับตัวขึ้น จากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลงในช่วงฤดูแล้ง

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ก.พ. 52 คาดว่าจะเกินดุล 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจาก 1) ดุลการค้าตามระบบกรมศุลกากรเกินดุล 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะมูลค่านำเข้าลดลงเร็วกว่ามูลค่าส่งออก และ 2) ดุลบริการน่าจะเกินดุลเล็กน้อย

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นแทบทุกสกุลยกเว้นค่าเงินเยน ยูโรและดอลลาร์ไต้หวัน และหยวน

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากปัจจัยที่ตลาดมีความผ่อนคลายความกังวลต่อวิกฤติการณ์สถาบันการเงินสหรัฐต่อเนื่องจากช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตามแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของตลาดหุ้น Wall Street โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มอุปโภคบริโภค ราคาน้ำมัน ทอง และโลหะพื้นฐาน ประกอบกับตัวเลขยอดการจำหน่ายสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ณ เดือน ก.พ. ปรับตัวเพิ่มมากกว่าคาดมาที่ร้อยละ 3.4 ทำให้นักลงทุนเริ่มเชื่อมั่นที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น นักลงทุนจึงลดความต้องการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (safe haven) ลงส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆส่วนใหญ่แม้ว่าจะได้รับปัจจัยการแข็งค่าขึ้นจากแรงขายทำกำไรหลังจากที่ได้อ่อนค่าลงมามากในช่วงที่ผ่านมา

ในขณะเดียวกัน ค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากการแข็งค่าขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้จึงส่งผลให้ค่าเงินยูโรเผชิญกับแรงทำกำไรจากการแข็งค่าขึ้นดังกล่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมของยุโรปประจำเดือน ม.ค. ปรับตัวลดลงมาก โดยต่ำที่สุดในรอบ 23 ปี ในขณะที่ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์แข็งค่าขึ้น เล็กน้อยเมือเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

ด้านค่าเงินเยนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอ่อนค่าลงมาต่อเนื่องที่ระดับค่อนข้างมากที่ร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นที่ยังมีแนวโน้มแย่ลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะตัวเลขยอดการค้าส่งค้าปลีกประจำเดือน ก.พ.ที่ลดต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่น Tankan ของญี่ปุ่นปรับตัวลดลงถึงจุดที่ต่ำที่สุดในรอบ 30 ปีที่ระดับ -55 ในไตรมาสนี้จากที่อยู่ที่ระดับ -24 เมื่อไตรมาสที่แล้ว

ด้านสกุลเงินเอเชียแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐโดยมีปัจจัยหลักได้แก่การลดการถือดอลลาร์สหรัฐในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยเพื่อมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคมากขึ้น โดยตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคปรับตัวขึ้นค่อนข้างมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ค่าเงินวอนในสัปดาห์นี้ยังคงแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.8 จากเงินทุนจำนวนมากที่ไหลเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ของเกาหลีไต้ประกอบกับตัวเลขดุลการค้าของเกาหลีไต้ในช่วง 20 วันแรกของเดือนมี.ค. ที่เกินดุลเพิ่มขึ้นมาถึง 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินรูเปียห์อินโดนิเซียแข็งค่าขึ้นตามแรงเงินทุนที่ไหลเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียและข่าวการจัดทำ Bilateral swap agreement ระหว่างอินโดนีเซียและจีน

ในขณะที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐโดยแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 และยังคงอยู่ในช่วงระดับ 35.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค

ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์
รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 27 มี.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 1.92 และแข็งค่าขึ้นจาก
สัปดาห์ที่แล้วเล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 1.33

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 6.8) รูเปียห์อินโดนิเซีย(ร้อยละ 4.5) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 3.1) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 3.0) วอนเกาหลี (ร้อยละ 2.6) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 1.7) ยูโร (ร้อยละ 1.6) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 1.5) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 1.5) หยวน (ร้อยละ 1.4) ปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ 0.7) และเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 0.3) ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 20 มี.ค.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 3.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 120.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 2.80 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน 0.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการตีค่ามูลค่าทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น (Valuation Gain) จากการที่ค่าเงิน EU และ JPY แข็งค่าขึ้นในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว ร้อยละ 5.09 และ -2.09 ตามลำดับ ประกอบกับคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะเข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทสะท้อนถึงทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิที่เพิ่มขึ้นยังไม่เพียงพอกับความต้องการขายเงินตราต่างประเทศของผู้ส่งออกและผู้ถือครองเงินสกุลตราต่างประเทศจึงทำให้ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (13 มี.ค.52) ร้อยละ -1.55 จาก 35.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 35.34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้

Major Trading Partners’ Economies: This Week

ยอดจำหน่ายบ้าน (Existing home sales) ของสหรัฐเดือนก.พ.52 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปีที่ร้อยละ 5.1 (mom annualized) จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.3 (mom annualized)(ตัวเลขปรับปรุง) มาอยู่ที่ 4.72 ล้านหลัง ในขณะที่ราคาบ้าน (Median Home Price) ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ 165,400 ดอลลาร์สหรัฐ หรือปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า เป็นสัญญาณว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมามากเริ่มส่งผลดีต่อการซื้อขายบ้าน เป็นสัญญาณว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นชนวนของวิกฤตการเงินโลกครั้งนี้มีแนวโน้มจะฟื้นตัว

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือนม.ค. 52 หดตัวลงร้อยละ -17.3 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงร้อยละ -11.8 ต่อปี และถือเป็นการหดตัวอย่างรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มประเทศยูโรโซน สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการลดกำลังการผลิตลงอย่างชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของกลุ่มประเทศยูโรโซนจะยังคงยืดเยื้อออกไปอีก

ดุลการค้าของกลุ่มประเทศยูโรโซนในเดือน ม.ค. 52 ขาดดุลที่ 10.5 พันล้านยูโร ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล -1.7 พันล้านยูโรโดยมูลค่าการส่งออกหดตัวลงร้อยละ -23.9 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -22.1 ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการสินค้าจากกลุ่มประเทศยูโรโซนลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงของประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น

มูลค่าการส่งออกสินค้าของญี่ปุ่นดือนก.พ.52 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ -49.4 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ-45.7 ต่อปี โดยในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของญี่ปุ่น หดตัวถึงร้อยละ -58.4 ต่อปี และการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆในทวีปเอเชียหดตัวถึงร้อยละ -46.3 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าสินค้าเดือนก.พ.52 หดตัวร้อยละ -43.0 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวสูงสุดในรอบ 28 ปี ทำให้ดุลการค้าญี่ปุ่นเดือนก.พ. 52 เกินดุลที่ 82.4 พันล้านเยน จากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล -956.9 พันล้านเยน

มูลค่าการส่งออกสินค้าของฮ่องกงเดือนก.พ.52 หดตัวร้อยละ -23.0 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ -21.8 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า โดยreexport ซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 97 ของการส่งออกรวม หดตัวที่ร้อยละ -22.4 ต่อปี ในขณะที่ domestic export หดตัวถึงร้อยละ -39.6 ต่อปี ในแง่มิติสินค้า การส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าวัตถุดิบหดตัวถึงร้อยละ -48.1 -26.2 และ -13.6 ต่อปี ตามลำดับ ในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น หดตัวถึงร้อยละ -14.2 -34.6 และร้อยละ -23.6 ตามลำดับ ในขณะที่การนำ เข้าสินค้าเดือนก.พ. 52 หดตัวร้อยละ-17.5 ต่อปี ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -27.1 ต่อปี โดยการส่งออกที่หดตัวเร่งขึ้นมากกว่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าฮ่องกงเดือน ก.พ.52 ขาดดุลที่ -23.2 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง

มูลค่าการนำเข้าสินค้าของฟิลิปปินส์เดือนม.ค. 52 หดตัวร้อยละ -34.5 ต่อปี หดตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -34.0 ต่อปี ซึ่งนับเป็น การหดตัวติดต่อกันเดือนที่ 4 ผลจากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 40.0 ของการนำเข้าทั้งหมด หดตัวถึงร้อยละ -43.3 ต่อปี อีกทั้งการนำเข้าน้ำมันดิบหดตัวถึงร้อยละ -59.0 ต่อปี ทำให้ในเดือนม.ค. 52 ดุลการค้าฟิลิปปินส์ขาดดุล -759 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ยอดจำหน่ายรถยนต์ของมาเลเซียในเดือนก.พ. 52 หดตัวร้อยละ -4.8 ต่อปี ดีขึ่นลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -17.5 ต่อปี โดยยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งมีการหดตัวร้อยละ -6.1 ต่อปี หดตัวชะลอลงจากร้อยละ -18.8 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ส่วนยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์มีการขยายตัวร้อยละ 9.8 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -1.9 ต่อปีเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลกที่ประสบกับภาวะยอดขายหดตัว

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ในเดือนก.พ. 52 หดตัวร้อยละ -22.4 ต่อปี ดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -29.1 ต่อปี สาเหตุของการหดตัวมาจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลผลิตหดตัวร้อยละ -37.3 ต่อปีเช่นเดียวกับการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ในเดือนก.พ. 52 ที่หดตัวร้อยละ -31.9 ต่อปี สอดคล้องกับสถานการณ์การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศในภูมิภาค

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ