รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 16 —20 มีนาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 25, 2009 12:41 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

1. Bank of Japan พิจารณาช่วยเหลือเพิ่มเงินทุนของธนาคารพาณิชย์

Bank of Japan (BOJ) พิจารณาให้ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ที่ทำธุรกรรมระหว่างประเทศ กู้เงินประเภท Subordinated Loan มีวงเงิน 1 ล้านล้านเยน เพื่อเพิ่มเงินทุนของสถาบันการเงิน หากราคาหุ้นตกต่ำลงอีกต่อไป มูลค่าหุ้นที่ธนาคารถืออยู่จะลดลงส่งผลให้เงินกองทุนของธนาคารลดลงและการปล่อยสินเชื่อ ลดลงด้วย โดยมีรัฐบาลค้ำประกัน ซึ่งจำนวน Subordinated Loan สามารถนับรวมกับเงินกองทุนของธนาคารได้ มาตรการดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์มีทางเลือก 3 ทาง เพื่อเพิ่มเงินทุน คือ 1) การจัดหาเงินทุนเอง 2) ให้รัฐบาลอัดฉีดเงินทุนตามมาตรการเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันการเงิน และ 3) ให้กู้เงิน Subordinated Loan จาก BOJ

ก่อนหน้านี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดวงเงินงบประมาณ 12 ล้านล้านเยน เพื่ออัดฉีดเงินทุนแก่สถาบันเงินตามมาตรการเพิ่มสภาพคล่องแก่สถาบันการเงิน แต่สถาบันเงินส่วนใหญ่ไม่อยากให้รัฐบาลเข้าบริหารกิจการ จึงมีธนาคารท้องถิ่นเพียง 3 รายเท่านั้นที่ขอความสนับสนุนจากรัฐบาล ได้แก่ Sapporo Hokuyo Holdings (Hokkaido), Fukuho Bank (Fukui Ken) และ Minami Nippon(Kagoshima Ken)

2. รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมงบประมาณจำนวน 15 พันล้านเหรียญสหรัฐฯป้องกันการว่างงาน

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ญี่ปุ่นมีการเลิกจ้างงานเป็นนวนมากในอุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็คทรอนิคและอื่นๆ กระทรวงแรงงานจึงเตรียมงบประมาณจำนวน 1.5 ล้านล้านเยนหรือ 15 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการว่างงานทีได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยแผนดังกล่าวรวมถึงการฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับผู้หางาน อุดหนุนบริษัทไม่ให้เลิกจ้างงานจ่ายชดเชยการเลิกจ้างงานแก่แรงงานต่างชาติเพื่อให้เดินทางกลับประเทศของตน ทั้งนี้ Toyota Motor Corp. จะลดการจ้างงานพนักงานประจำในปีงบประมาณหน้าลงเหลือครึ่งหนึ่งหรือ 1,800 คน โดยจะเริ่มในเดือน เม.ย.52 นี้ ในขณะที่บริษัทอื่นลดการจ้างงานหรือไม่จ้างพนักงานเพิ่ม ตัวเลขการว่างงานล่าสุดในเดือน ม.ค.อยู่ที่ร้อยละ 4.1 แต่ยังต่ำกว่าตัวเลขว่างงานสูงสุดในปี 2545 ที่ระดับร้อยละ 5.5

กระทรวง Health, Labour and Welfare แถลงว่าจะมีพนักงานชั่วคราวจำนวนประมาณ 158,000 จะไม่ได้รับการต่อสัญญาใหม่ในสิ้นปีงบประมาณ 2551 (มี.ค.52) นี้

3. เดือน ม.ค. 52 จำนวนคำสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 3.2

Cabinet office รายงานว่าคำสั่งซื้อเครื่องจักรลดลงร้อยละ 3.2 ในเดือนมกราคม ปี 2552 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มีมูลค่ารวม 718.3 พันล้านเยน ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกัน 4 เดือน โดยอุตสาหกรรมผลิตสินค้า เหล็ก เครื่องจักร และรถยนต์ลดลงร้อยละ 27.4, 75.0, 28.9 และ 36.2 ตามลำดับ

4. IMF ปรับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ปี 2552 ว่าโตติดลบร้อยละ 5.8 จากเดิมที่ประมาณไว้ในเดือน ม.ค.52 ว่าติดลบร้อยละ 2.6

IMF ได้ปรับประมาณการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในWorld Economic Outlook ฉบับล่าสุดรายงานว่า ปี 2552 สรุปได้ดังนี้

          ประเทศ           มี.ค.2552                ม.ค.2552
          ญี่ปุ่น                -5.2                    -2.6
          สหรัฐฯ              -2.6                    -1.6
          ยุโรป               -3.2                    -2.0
          โลก           (- 0.5)-(-1.0)                0.5

ทั้งนี้ ได้คาดการณ์ว่า สหรัฐฯและยุโรป จะมีอัตราการเจริญเติบโตเป็น + ในปี 2553

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ