รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 23—27 มีนาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 30, 2009 13:32 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

1. ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวชะลอการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

วันอังคารที่ผ่านมา Tokyo Stock Exchange Group Inc. (TSE) ประกาศชะลอแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จากเดิมที่กำหนดไว้ภายในสิ้นปีนี้ เป็นภายหลังปี 2553 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ลดลงมาก

แผนการนำเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นผลมาจาก TSE ต้องการระดมทุนเพิ่มเพื่อขยายธุรกิจ นอกจากนี้สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากผลการตัดสินของศาลที่ให้ TSE ชำระค่าเสียหายกรณีบริษัทหลักทรัพย์ Mizuho จำนวน 41.5 พันล้านเยน ภายหลังถูกฟ้องร้องเมื่อปี 2548 จากเหตุขัดข้องของระบบคอมพิวเตอร์ของ TSE ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในคำสั่งซื้อหลักทรัพย์และได้สร้างความเสียหายแก่บริษัทหลักทรัพย์ Mizuho เป็นอันมาก

ณ สิ้นปีที่ผ่านมา ผลประกอบการของ TSE ขาดทุนจำนวน 7 พันล้านเยน ซึ่งนาย Atsushi Saito ประธาน TSE ได้แถลงเพิ่มเติมว่า ผลดังกล่าวทำให้ต้องลดผลตอบแทนของผู้บริหารลงถึงร้อยละ 30 เพื่อปรับปรุงฐานะการเงินให้ดีขึ้น

TSE เป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น นอกเหนือจากตลาดหลักทรัพย์ JASDAQ (สำหรับจดทะเบียนบริษัทใหม่ๆ ) และตลาดหลักทรัพย์ในจังหวัดใหญ่ ได้แก่ ในจังหวัดโอซากา นาโกยะ ฟูกุโอกะแซบโปโร TSE มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทสำคัญๆ ของญี่ปุ่นประมาณ 120 ราย ส่วนใหญ่มีสถาบันการเงินในเครือของตนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เช่นบริษัท Mitsubishi Securities บริษัทลูกของ Mitsubishi Corporation เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

2 ญี่ปุ่นมียอดการเกินดุลการค้าประจำเดือนก.พ. 52 จำนวน 82.4 พันล้านเยน

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่ายอดการส่งออกลดลงร้อยละ 49.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้ามีจำนวน 3,525.5 พันล้านเยน โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและเอเชีย ลดลงร้อยละ 58.4, 54.7 และ 46.3 ตามลำดับ เป็นผลมาจากการส่งออกยานยนต์ลดลงอย่างมาก ในขณะเดียวกันยอดการ นำเข้าก็ลดลงร้อยละ 43 อยู่ที่ 3,443.1 พันล้านเยน ซึ่ง เป็นการลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลมาจากการนำเข้าเสื้อผ้าจากจีนลดลงอย่างมาก และค่าเงินเยนปรับแข็งค่าขึ้นส่งผลให้ยอดการนำเข้าเพิ่มขึ้นการนำเข้าลดลงมากกว่าการส่งออกทำให้เกินดุลการค้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เป็นจำนวน 82.4 พันล้านเยน

                   ดุลการค้าประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552                   หน่วย: พันล้านเยน
                   ยอดการส่งออก (ร้อยละ)    ยอดการนำเข้า (ร้อยละ)    ดุลการค้า (ร้อยละ)
สหรัฐฯ                571.7 (-52.9)             438.9 (-35.0)       132.8 (-75.3)
สหภาพยุโรป            522.0 (-47.4)             495.3 (-23.3)        26.6 (-92.3)
เอเชีย (รวมจีน)      1,618.5 (-46.7)           2,048.6 (-25.4)       -430.1 (-)
สาธารณรัฐ
ประชาชนจีน            512.1 (-45.1)           1,074.8 (-16.2)       -562.7 (60.7)
รวม                3,525.5 (-49.4)           3,443.1 (-43.0)        82.4 (-91.2)
ที่มา กระทรวงการคลังญี่ปุ่น

3. ดัชนีราคาผู้บริโภคไม่เปลี่ยนแปลง ในเดือน ก.พ. 52 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

กระทรวงมหาดไทยและการสื่อสาร ได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนยกเว้นอาหารสด(CPI, ปี 2548=100) ประจำเดือน ก.พ.52 ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 100.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้าเนื่องจากราคาน้ำมันลดลงมากกว่าราคาอาหารปรับสูงขึ้น เศรษฐกิจที่ถดถอยส่งผลให้ราคาบริโภคลดลง ต่อเนื่อง และมีความกังวลเรื่องเงินฝืดมาแทน

4. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นลาออกจากตำแหน่งแล้ว

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2552 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น (Senior Vice Minister for Finance) นาย Koichi Hirata ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากได้ขายหุ้นของตนเองที่ได้ถืออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งขัดต่อระเบียบของเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยนาย Hirataเป็นรัฐมนตรีช่วยคนแรกที่ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งด้วยตนเองโดยการลาออกครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจัดทำแผนงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2552 ของรัฐบาลนี้อย่างมาก

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ