รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 เมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 1, 2009 10:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 เม.ย. 2552

SUMMARY:

1. ม.หอการค้าหวั่นสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อซ้ำเติมเศรษฐกิจ

2. เอดีบีห่วงเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบร้อยละ 4-5

3. น้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1993

HIGHLIGHT:
1. ม.หอการค้าหวั่นสถานการณ์ทางการเมืองยืดเยื้อซ้ำเติมเศรษฐกิจ
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้ ว่าหากมีการยืดเยื้อ อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เนื่องจากจะกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการบริโภค การท่องเที่ยว และการลงทุน อย่างไรก็ตาม คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 52 จะติดลบประมาณร้อยละ -5 ต่อปี ในขณะที่ไตรมาส 2 ได้รับอานิสงค์จากเช็คช่วยชาติมีผลทำให้ขยายตัวติดลบประมาณ -2 ถึง -3 ต่อปี ส่วนในไตรมาส 3 หากสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อ และรัฐสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวติดลบร้อยละ -1 ถึง -2 ต่อปี สำหรับไตรมาส 4 ประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณร้อยละ +3 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2552 จะหดตัวที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ -3.0 ถึง -2.0 ต่อปี) โดยจะหดตัวในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี ในรูปแบบการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ไตรมาส 4 จะได้รับอานิสงค์จากแผนการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรอบที่ 2 จะเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ภายในไตรมาส 4/52 ประกอบกับฐานต่ำปีก่อน (ไตรมาส 4 ปี 51 เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ -4.3 ต่อปี) จะเป็นแรงผลักให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสสุดท้ายของปี 52
2. เอดีบีห่วงเศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบร้อยละ 4-5
  • ผู้อำนวยการสำนักงาน ผู้แทนประจำประเทศไทย เอดีบี มองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวประมาณร้อยละ -2 หดตัวครั้งแรกตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ติดลบร้อยละ -10.5 โดยหากสถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ -4 ถึง -5 และหาก GDP ติดลบร้อยละ -2 จะมีการว่างงานเพิ่มขึ้น 2 ล้านคน ทั้งนี้ นอกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย 1.17 แสนล้านบาทแล้ว เป็นไปได้ว่ารัฐบาลอาจจะต้องมีมาตรการอื่นเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการดูแลเศรษฐกิจ และเอดีบีพร้อมสนับสนุนเงินกู้แก่รัฐบาลไทย เพื่อใช้ลงทุนในโครงการเมกะโปรเจค
  • ณ เดือนมีนาคม สศค. ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2552 ว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ -3.0 ถึง -2.0 ต่อปี) ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจ 14 ประเทศคู่ค้าหลักหดตัวถึงร้อยละ -2.2 ต่อปี จะทำให้การส่งออกของไทยหดตัวรุนแรง และถ้าหากการเบิกจ่ายเงินภาคสาธารณะไม่เป็นไปตามเป้า จะฉุดให้เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี และอัตราการว่างงานอาจแนวโน้มสูงถึงร้อยละ 4.3 ดังนั้น การใช้จ่ายของภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการบรรเทาการหดตัวทางเศรษฐกิจ
3. น้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1993
  • สหรัฐฯเผยตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง สิ้นสุดวันที่ 20 มีนาคม ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 1993 จากความต้องการใช้น้ำมันดิบของโรงกลั่นในภูมิภาคที่ยังคงมีไม่มาก และมีการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 4 ประกอบกับได้รับแรงกดดันจากดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ที่ปรับตัวลดลงกว่า 254.16 จุด ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลสหรัฐออกมากล่าวถึงสถานะที่ไม่ดีนักของ บ.เจนนเนอรัลมอเตอร์ และไครส์เลอร์ สองบริษัทค่ายรถยักษ์ใหญ่ หลังแผนฟื้นฟูกิจการไม่ผ่านรัฐบาล จึงต้องมีการจัดทำแผนใหม่ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังจากขึ้นไปทำจุดสูงสุดในสัปดาห์ที่แล้วที่ 54.7 ดอลล่าร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เนื่องจากเผชิญปัจจัยด้านลบจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังจากประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อย่างสหรัฐ และจีน พุ่งขึ้นสูงสุด นอกจากนั้นในวันที่ 2 เม.ย. 52 ธ.กลางยุโรปอาจตัดสินใจใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเงิน (Quantitative Easing) แทนการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินยูโร ทำให้ไปกดดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวลดลง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ