บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง มองวิกฤตเศรษฐกิจไทยผ่านวิกฤตส่งออกและนำเข้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 1, 2009 17:41 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

เดือนกุมภาพันธ์ 2552 มูลค่าสินค้าส่งออก หดตัวร้อยละ -11.3 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้า หดตัวร้อยละ -40.3 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 3,577 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากไม่นับรวมถึงการส่งออกทองคำมูลค่าการส่งออกจะหดตัวที่ร้อยละ -24.6 ต่อปี

การส่งออกสินค้าที่หดตัว เนื่องจากปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ -11.1 ต่อปี และราคาสินค้าส่งออกหดตัวร้อยละ -0.3 ต่อปี เมื่อพิจารณารายหมวดพบว่า มาจากการหดตัวของการส่งออกเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะในหมวดสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม และแร่และเชื้อเพลิง

การนำเข้าสินค้าที่หดตัว เนื่องจากปริมาณการนำเข้าสินค้าหดตัวถึงร้อยละ -37.0 ต่อปี และราคาสินค้านำเข้าหดตัวร้อยละ -5.3 ต่อปี เมื่อพิจารณารายหมวด พบว่า มีการหดตัวในทุกหมวดสินค้า

จากมูลค่าการส่งออกใน 2 เดือนแรกที่หดตัวร้อยละ -19.2 ต่อปี ทำให้ สศค. คาดว่า Real GDP ไตรมาส 1 ปี 2552 จะหดตัวลงมากกว่าไตรมาส 4 ปี 2551

1. ความสำคัญของการส่งออกต่อเศรษฐกิจไทย

การค้าระหว่างประเทศ (International trade) เกิดขึ้นได้เพราะความสามารถในการผลิตสินค้าในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ทำให้เกิดความต้องการซื้อสินค้าที่ผลิตไม่ได้ภายในประเทศ หรือสินค้าที่มีราคาถูกกว่าในประเทศส่งผลให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างประเทศ ความสำคัญของการค้าระหว่างประเทศ คือ การทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศดีขึ้น เนื่องจากเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีต่อสินค้าที่ไม่สามารถผลิตในประเทศได้เองหรือผลิตได้ในต้นทุนที่สูงกว่า อีกทั้งยังทำให้เกิดการลงทุน และการจ้างงานเพื่อผลิตสินค้าที่ได้เปรียบทางการค้า สุดท้ายก็จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตของประเทศขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ในกรณีของประเทศไทย การค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญต่ออัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมาก โดยสังเกตได้จากสัดส่วนของการส่งออกและการนำเข้าสินค้าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยในปี 2551 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 72.1 และ 56.6 ตามลำดับ ดังนั้น การขยายตัวหรือหดตัวของการส่งออกและนำเข้าสินค้า ย่อมมีผลกระทบอย่างมากต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งด้านการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนและการจ้างงาน

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2552 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศว่าไตรมาส 4 ปี 2551 อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ หดตัวลงร้อยละ -4.3 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 ปี สาเหตุหลักมาจากการหดตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการถึงร้อยละ -8.6 ต่อปี เมื่อพิจารณา Contribution to GDP Growth จะพบว่า การหดตัวของ GDP มาจากการหดตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการถึงร้อยละ -6.2 ต่อปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การหดตัวของปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเป็นตัวฉุดอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ

2. สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนก.พ.2552
  • มูลค่าสินค้าส่งออก หดตัวร้อยละ -11.3 ต่อปีหดตัวชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -26.5 ต่อปีเฉลี่ย 2 เดือนแรก หดตัวร้อยละ -19.2 ต่อปี
  • มูลค่าสินค้านำเข้า หดตัวร้อยละ -40.3 ต่อปีหดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -37.6 ต่อปี เฉลี่ย 2 เดือนแรก หดตัวร้อยละ -38.9 ต่อปี
  • ดุลการค้าเกินดุล 3,576.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากมูลค่านำเข้าสินค้าหดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออกสินค้า รวม 2 เดือนแรกของปีเกินดุลสูงถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือนก.พ. 2552 หดตัว ได้แก่ 1) เศรษฐกิจคู่ค้าหลักหดตัวรุนแรง ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวลงโดยเฉพาะสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนร้อยละ 75.3 ของมูลค่าส่งออกรวม 2) การแข่งขันทางด้านราคาของประเทศคู่แข่งทางการค้า เพราะต้องการระบายสินค้าส่งออกที่ยังค้างสต๊อก อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกที่หดตัวน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์นั้น เป็นผลมาจาก 1) วันทำการที่มากกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 2) การส่งออก ทองคำแท่งที่มีมูลค่าสูงถึง 1,864.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวถึงร้อยละ 1,148 ต่อปี หากพิจารณามูลค่าการส่งออกโดยไม่รวมการส่งออกทองคำนั้น การส่งออกในเดือนก.พ. 2552 จะหดตัวถึงร้อยละ -24.6 ต่อปี

ปัจจัยที่ทำให้การนำเข้าในเดือนก.พ. 2552 หดตัว ได้แก่ 1) คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกของไทยจากต่างประเทศที่ลดลง ทำให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบเพื่อมาผลิตเป็นสินค้าส่งออกลดลง 2) นักลงทุนชะลอการลงทุน เนื่องจากความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่มีแนวโน้มรุนแรงและยาวนาน ทำให้มีการชะลอการซื้อสินค้าทุน 3) ความต้องการสินค้าจากต่างประเทศที่ลดลง โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัว และ 4) ราคาน้ำมันดิบที่ลดลง มากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ดุลการค้าที่เกินดุล เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่หดตัวมากกว่ามูลค่าการส่งออก

เมื่อพิจารณาปริมาณการส่งออกสินค้าใน 2 เดือนแรกของไตรมาส 1 ปี 2552 พบว่า หดตัวที่ร้อยละ -19.4 ต่อปี เนื่องจากภาคการส่งออกของไทยยังมีสัดส่วนถึงร้อยละ 72.1 ของ Real GDP ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทยในไตรมาสแรกของปี 2552 นั้น มีแนวโน้มหดตัวลงมากกว่าไตรมาส 4 ปี 2551 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าใน 2 เดือนแรกของไตรมาส หดตัวถึงร้อยละ -36.1 ต่อปี สะท้อนถึงการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่ หดตัวตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าที่ลดลง และการชะลอการลงทุน ทั้งนี้ การหดตัวของมูลค่าการส่งออกและนำเข้านั้น บ่งบอกถึงปัญหาด้านการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การว่างงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศที่จะหดตัวลง และท้ายที่สุดก็จะเป็นแรงส่งทำให้ GDP มีโอกาสหดตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น การช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชนและบุคลากรของรัฐที่มีรายได้น้อย การดูแลผู้ที่ถูกเลิกจ้าง เป็นต้น จะสามารถ ช่วยลดระดับความรุนแรงของการหดตัวของเศรษฐกิจไทยลงได้

3. การส่งออกสินค้าของไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤต

โครงสร้างการส่งออกพบว่าสินค้าอุตสาหกรรมมีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 75.3 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ในจำนวนนี้สินค้าคอมพิวเตอร์อุปกรณ์ และส่วนประกอบมีสัดส่วนมากที่สุด คือ ร้อยละ10.3 ของมูลค่าส่งออกรวม และร้อยละ 13.7 ของสินค้าอุตสาหกรรม รองลงมาได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และแผงวงจรไฟฟ้า

อันดับ 2 คือ สินค้าเกษตร มีสัดส่วนร้อยละ 11.3 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ในจำนวนนี้ยางพารามีสัดส่วนมากที่สุด คือ ร้อยละ 3.8 ของมูลค่าส่งออกรวม และร้อยละ 33.7 ของสินค้าเกษตร รองลงมาได้แก่ ข้าว ไก่แปรรูป และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

ส่วนอันดับ 3 และ 4 ได้แก่ สินค้าแร่และเชื้อเพลิง และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีสัดส่วนร้อยละ 6.8 และ 6.6 ของมูลค่าส่งออกรวม โดยสินค้าสำคัญ คือ น้ำมันสำเร็จรูป และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามลำดับ

หมวดสินค้าเกษตร มีอัตราการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงกลางปี 2551 โดยในไตรมาสสองและสาม การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวถึงร้อยละ 56.7 และร้อยละ 57.5 ตามลำดับ ตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่สูงขึ้น แต่หดตัวลงในไตรมาสสุดท้าย เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าลดลงตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 การส่งออกสินค้าเกษตรมีอัตราการหดตัวที่ร้อยละ -16.5 ต่อปี หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -33.4 ต่อปี เนื่องจากการส่งออกข้าวที่ขยายตัว ทั้งนี้การส่งอออกสินค้าเกษตรใน 2 เดือนแรกของปี 2552 หดตัวที่ร้อยละ -25.4 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -24.4 ต่อปี ในส่วนของปริมาณ ซึ่งสินค้าหลักในหมวดนี้ ได้แก่ ยางพารา และข้าว

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2551 โดยในไตรมาสสาม ขยายตัวถึงร้อยละ 38.2 ต่อปี แต่ชะลอตัวลงในไตรมาสสุดท้าย สาเหตุที่สินค้าในหมวดนี้ยังขยายตัวที่ร้อยละ 23.4 ต่อปีในปี 2551 เนื่องจากเป็นสินค้าที่สามารถเก็บไว้ได้นาน และพฤติกรรมที่ครัวเรือนออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 ต่อ ปี จากที่หดตัวร้อยละ -7.5 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ผลจากการส่งออกน้ำตาลทรายที่ขยายตัวมาก โดยใน 2 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -2.7 ต่อปี ส่วนปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี สินค้าหลักในหมวดนี้ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เป็นหมวดสินค้าส่งออกหลักของไทย มีสัดส่วนถึงร้อยละ 75.3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของปี 2551 โดยในสามไตรมาสแรกของปี 2551 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวใกล้เคียงกับในปี 2550 ในขณะที่ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 มีการหดตัว เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงตามยอดขายสินค้าคงทนที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงผลจากการปิดสนามบินในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2551 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 สินค้า อุตสาหกรรมมีอัตราการหดตัวที่ร้อยละ -8.1 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -25.2 ต่อปี เนื่องจากการส่งออกทองคำในปริมาณมาก โดยหากไม่รวมทองคำ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะหดตัวร้อยละ -25.3 ต่อปี ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีการหดตัวร้อยละ -16.9 ต่อปี ส่วนปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -18.8 ต่อปี สินค้าหลักในหมวดนี้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และแผงวงจรไฟฟ้า

หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าหลัก อัตราการขยายตัวของสินค้าหมวดนี้เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยมีการขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงกลางปี 2551 และหดตัวลงในไตรมาสสุดท้ายเป็นต้นมา โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 การส่งออกสินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีอัตราการหดตัวที่ร้อยละ -53.6 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -45.1 ต่อปี ตามราคาน้ำมันในตลาดดูไบในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่หดตัวถึงร้อยละ -55.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้การส่งออกสินค้าแร่และเชื้อเพลิงในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 หดตัวถึงร้อยละ -49.1 ต่อปี ส่วนปริมาณส่งออกสินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดคัวร้อยละ -25.7 ต่อปี

เมื่อพิจารณาสินค้าส่งออกสำคัญข้างต้น สามารถกล่าวได้ว่า สถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤตชัดเจนขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากความต้องการของตลาดคู่ค้าหลักลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

ในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกของไทยมีการกระจายตัวของคู่ค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นการกระจายความเสี่ยงของการส่งออกหากประเทศคู่ค้ารายหนึ่ง ประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวการส่งออกของไทยยังคงเติบโตต่อไปได้เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่เหลือ ยังมีความสามารถที่จะนำเข้าสินค้าจากไทยได้

ไทยส่งออกสินค้าไปยังประเทศกลุ่มยูโรโซนมากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 12.0 ของการส่งออกทั้งหมด ส่วนอันดับรองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ มีสัดส่วนร้อยละ 11.4 11.3 9.1 และ 5.7 ตามลำดับ ซึ่งประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของไทย ประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวโดยตรง ทำให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างมาก

  • ยูโรโซน การส่งออกไปยังยูโรโซนในปี 2551 มีการขยายตัวไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกรวมของไทยเนื่องจากเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุด โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 การส่งออกไปยูโรโซนหดตัวร้อยละ -31.3 ต่อปี จากที่หดตัวในเดือนก่อนที่ร้อยละ -28.4 ต่อปี สินค้าสำคัญ 5 อันดับแรกที่ส่งออกไปยังยูโรโซน (ปี 2551) มีการหดตัวทุกชนิด ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและ
ส่วนประกอบ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีการหดตัวถึงร้อยละ -28.3 -7.9 -69.4 -73.5 และ-0.8 ต่อปีจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -37.2 -16.8 -62.3 -59.9 และ 5.7 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่อง สังเกตจากเส้นแนวโน้มค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ที่ดิ่งลงในทุกรายสินค้าที่สำคัญ
  • สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกอันดับสองของไทย โดยการส่งออกไปยังสหรัฐฯในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีการหดตัวร้อยละ -24.8 ต่อปี จากที่หดตัวร้อยละ -27.7 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า สินค้าสำคัญ 5 อันดับแรกที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา(ปี 2551) หดตัวลงทุกรายการ ซึ่งได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ยาง โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีการหดตัวถึงร้อยละ -25.4 -31.3 -5.6 -34.4 และ-15.4 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ร้อยละ -28.7 -11.5 -0.1 -37.6 และ-3.7 ต่อปี ตามลำดับ ผลจากกำลังซื้อที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ชะลอตัวลงมาก โดยเฉพาะสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • ญี่ปุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 การส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสามของไทย มีการหดตัวร้อยละ -28.8 ต่อปี จากร้อยละ -18.8 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า สินค้าสำคัญ 5 อันดับแรกที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่น(ปี 2551) มีการหดตัวในเกือบทุกสินค้า สินค้าที่มีการหดตัว ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพาราและ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีการหดตัวถึงร้อยละ -47.0 -23.1 -32.2 -64.3 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -44.8 -37.9 -46.8 และ-48.4 ต่อปี ตามลำดับ ส่วนสินค้าที่มีอัตราการขยายตัว ได้แก่ ไก่แปรรูป มีการขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 44.2 ต่อปี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 จากที่ขยายตัวร้อยละ 61.2 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า

การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ย่อมทำให้การส่งออกของประเทศไทยขยายตัวตามไปด้วย ดังนั้นการติดตามข้อมูลทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะทราบถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ทำให้สามารถนำมาวางแผนและพัฒนาศักยภาพการส่งออกของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. การนำเข้าสินค้าที่หดตัวรุนแรงสะท้อนการหดตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการผลิตเพื่อส่งออก

โครงสร้างการนำเข้า พบว่า สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป มีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 43.4 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด ในจำนวนนี้สินค้าเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์มีสัดส่วนมากที่สุด คือ ร้อยละ 7.7 ของมูลค่านำเข้ารวม และร้อยละ 17.7 ของสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป รองลงมาได้แก่ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เพชรพลอย อัญมณีเงินแท่งและทองคำ และสินแร่โลหะอื่นๆ

อันดับ 2 คือ สินค้าทุน มีสัดส่วนร้อยละ 24.2 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด ในจำนวนนี้สินค้าเครื่องจักรกลมีสัดส่วนมากที่สุด คือ ร้อยละ 8.3 ของมูลค่านำเข้ารวม และร้อยละ 34.2 ของสินค้าทุน รองลงมาได้แก่ เครื่องจักรกลไฟฟ้า และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์

อันดับ 3 คือ สินค้าเชื้อเพลิง มีสัดส่วนร้อยละ 20.9 ของมูลค่านำเข้ารวม ในจำนวนนี้สินค้าน้ำมันดิบมีสัดส่วนมากที่สุด คือ ร้อยละ16.9 ของมูลค่านำเข้ารวม และร้อยละ 81.0 ของสินค้าเชื้อเพลิง

ส่วนอันดับ 4 และ 5 ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีสัดส่วนร้อยละ 8.3 และ 3.1 ของมูลค่านำเข้ารวม โดยสินค้าสำคัญ คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เป็นหมวดสินค้าที่สะท้อนถึงยอดการส่งออกในอนาคตและยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้า โดยในปี 2551 มีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงไตรมาสสาม และชะลอตัวลงในไตรมาสสุดท้าย สาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว ทำให้การนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตสินค้าส่งออกชะลอตัวลงสำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีอัตราการหดตัวที่ร้อยละ -48.8 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -41.9 ต่อปี ทำให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 หดตัวร้อยละ -45.3 ต่อปี สินค้าหลักในหมวดนี้ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ และสินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ส่วนปริมาณนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปหดตัวร้อยละ -46.5 ต่อปี

หมวดสินค้าทุน การนำเข้าสินค้าในหมวดนี้ บ่งบอกถึงการขยายการลงทุนจากการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศเพื่อใช้ในโรงงานใหม่หรือเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ในปี 2551 การนำเข้าสินค้าทุนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในสามไตรมาสแรก และชะลอตัวลงมาก ในไตรมาสสุดท้าย โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 สินค้าทุนมีอัตราการหดตัวที่ร้อยละ -16.1 ต่อปี จากที่หดตัวร้อยละ -29.5 ต่อปีในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าทุนใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 หดตัวร้อยละ -23.8 ต่อปี สินค้าหลักในหมวดนี้ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนปริมาณนำเข้าสินค้าทุนหดตัวร้อยละ -23.5 ต่อปี

หมวดสินค้าเชื้อเพลิง มีน้ำมันดิบเป็นสินค้าหลัก อัตราการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าหมวดนี้ ส่วนใหญ่เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยมีการขยายตัวเร่งขึ้นในครึ่งแรกของปี 2551 และขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในไตรมาสสามจากการลดภาษีน้ำมัน แต่ชะลอตัวลงในไตรมาสสุดท้ายเพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง ในโดยในเดือนกุมภาพันธ์2552 สินค้าเชื้อเพลิงมีอัตราการหดตัวที่ร้อยละ -56.0 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ -53.4 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงใน 3 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 หดตัวร้อยละ -54.8 ต่อปี ส่วนปริมาณนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวร้อยละ -36.1 ต่อปี

หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค เป็นหมวดสินค้าที่สะท้อนถึงการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศ ในปี 2551 มีการขยายตัวในระดับดีในสามไตรมาสแรก แต่ชะลอตัวลงอย่างมากในไตรมาสสุดท้าย สาเหตุจากความวิตกกังวลของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวลงในอนาคต โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 สินค้าอุปโภคและบริโภคมีอัตราการหดตัวที่ร้อยละ -21.0 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -17.9 ต่อปี ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคในสองเดือนแรกของไตรมาสที่ 1 หดตัวร้อยละ -19.4 ต่อปี สินค้าหลักในหมวดนี้ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคหดตัวร้อยละ -21.2 ต่อปี

หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์รถยนต์เพื่อผลิตรถยนต์หรือซ่อมแซมรถยนต์ที่ต้องนำเข้าอะไหล่จากต่างประเทศ โดยการนำเข้าสินค้าหมวดนี้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในสามไตรมาสแรกของปี 2551 และชะลอตัวลงในไตรมาสสุดท้าย เช่นเดียวกับสินค้านำเข้าในหมวดสินค้าอื่นๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งมีอัตราการหดตัวที่ร้อยละ -45.4 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -18.7 ต่อปี ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ใน 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 1 การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์ หดตัวร้อยละ -32.1 ต่อปีส่วนปริมาณการนำเข้ายานพาหนะหดตัวร้อยละ -30.8 ต่อปี

เมื่อพิจารณาการนำเข้าเป็นรายหมวด จะพบว่า อุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอลงชัดเจน ทั้งด้านการลงทุนซึ่งสังเกตได้จากการนำเข้าสินค้าทุนที่หดตัว และด้านการบริโภคซึ่งสังเกตได้จากการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวนอกจากนี้ยังพบว่า การผลิตเพื่อส่งออกอาจหดตัวต่อเนื่อง เพราะการนำเข้าวัตถุดิบหดตัวลงมากเช่นกัน

5. สิ่งที่ควรจับตาดูคือมูลค่าและปริมาณการส่งออกสินค้าในเดือนมีนาคม 2552

สศค. คาดว่า ในเดือนมีนาคมปี 2552 มูลค่าและปริมาณการส่งออกสินค้า น่าจะหดตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก บวกกับฐานที่สูงมากในช่วงดังกล่าว และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ สศค.คาดว่า อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปี 2552 จะหดตัวมากกว่าไตรมาส 4 ปี 2551 ดังนั้น ยุทธศาสตร์ด้านการส่งออก ในด้านมิติคู่ค้าควรเร่งหาตลาดใหม่ เพิ่มปริมาณการค้าภายในภูมิภาค ในส่วนของมิติสินค้า ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้การส่งออก สินค้าอุตสาหกรรมของไทยหดตัวลงอย่างรุนแรง ยังมีโอกาสโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรของไทยยังคงมีศักยภาพในการแข่งขันถึงแม้ว่าจะมีการหดตัวแต่ก็เป็นการหดตัวไม่มากเมื่อเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีการขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี ถือว่าเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้หากการส่งออกในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวได้ดี ย่อมส่งผลให้เกษตรกร ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคภาคประชาชนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อีกทั้ง ยังต้องดูแลเรื่องค่าเงินบาทมิให้เสียเปรียบคู่แข่ง และสนับสนุนให้ประเทศในภูมิภาคร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างสอดคล้องและต่อเนื่อง จะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวเร็วขึ้น ท้ายที่สุดจะส่งผลให้การส่งออก การผลิต และการจ้างงานฟื้นตัวอย่างยั่งยืน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ