จำเป็นต้องยืดระยะเวลาคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนเพิ่มอีก 2 ปีหรือไม่???

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 1, 2009 17:47 —กระทรวงการคลัง

วิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกาที่เป็นต้นเหตุของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยวิกฤตครั้งนี้ได้ลุกลามและส่งผลกระทบในวงกว้างต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และเศรษฐกิจโดยรวมของนานาประเทศ ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงได้ออกมาตรการเพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจโลกไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง มาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ มาตรการเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบการเงิน มาตรการค้ำประกันเงินกู้ของธนาคารหรือมาตรการรับซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงินมาบริหาร นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั้งในสหรัฐฯ ประเทศแถบยุโรปและเอเชียได้นำมาตรการเพิ่มวงเงินประกันและ/หรือรับประกันเงินฝากเต็มจำนวนมาใช้ แต่สำหรับประเทศไทยเพิ่งมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากภายใต้พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงินในสถาบันการเงินเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน และดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน รวมทั้งชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะให้การคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนในปีแรกเท่านั้น และจะทยอยลดวงเงินจ่ายคืนเหลือ 1 ล้านบาทในปีที่ 5

อย่างไรก็ตาม กฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีบทบัญญัติให้สามารถเพิ่มวงเงินคุ้มครองได้ในช่วง 4 ปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย หากภาวะเศรษฐกิจและระบบการเงินเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญอันเป็นเหตุให้ต้องกำหนดจำนวนเงินที่ให้การคุ้มครองเงินฝากเพิ่มขึ้นโดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น พ.ศ. ...ในสมัยรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยได้ผ่านการ เห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 แต่หลังจากที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กระทรวงการคลังได้ยืนยันร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่งแล้ว ดังนั้น บทความนี้จะอธิบายถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องยืดระยะเวลาคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนเพิ่มอีก 2 ปี

เหตุผลแรก คือ การที่ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกมีการเชื่อมโยงกัน(Globalization) อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะประเทศที่มีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เศรษฐกิจโลกก็ต้องได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน จากการศึกษาข้อมูลสถิติของสหรัฐฯ ในการเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ของ National Bureau of Economic Research (NBER)ในช่วงปี 1945-2007 พบว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีการถดถอยถึง 3 ครั้ง โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง

ระยะเวลา คือ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ปี 1980-1982 เป็นเวลาประมาณ 2 ปี โดยมีสาเหตุมาจากวิกฤตน้ำมัน(1973) และวิกฤตพลังงาน(1979) ช่วงที่ 2 เกิดเมื่อเดือนกรกฎาคม 1990 - มีนาคม 1991 เป็นเวลาประมาณ 8 เดือน โดยมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ Black Monday และ Gulf war และช่วงที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อ เดือนพฤศจิกายน 2001- พฤศจิกายน 2002 สาเหตุมาจากฟองสบู่แตกจาก Dot.com หรือ Dot.com bubble เป็นเวลาประมาณ 12 เดือน และในขณะเดียวกันจากข้อมูลของ International Monetary Fund (IMF) พบว่าเศรษฐกิจโลกมีการถอดถอยถึง 3 ครั้งในปี 1990-1993, 1998 และ 2001-2002 สาเหตุมาจากประเทศที่มีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก ด้วยเหตุนี้ ปี 2008 เศรษฐกิจโลกจึงหนีไม่พ้นผลกระทบจากวิกฤตการเงินของประเทศสหรัฐฯ โดยมีความเป็นไปได้ว่า การถดถอยของเศรษฐกิจโลกครั้งนี้อาจใช้เวลาถึง 2 ปี และจะกระทบมาถึงไทยด้วย เนื่องจากไทยเป็นประเทศเปิดเสรี (Open economy) และมีการพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เหตุผลที่ 2 คือ การที่นานาประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในแถบยุโรป และเอเชียได้ทยอยประกาศเพิ่มวงเงินประกันและ/หรือประกันเงินฝากเต็มจำนวนแล้ว เช่น เดนมาร์กสวีเดน ฟินแลนด์ อิตาลี เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน ฮอลแลนด์ เยอรมัน ออสเตรีย ไต้หวัน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบการเงินในยามวิกฤต และเพื่อยับยั้งการเคลื่อนย้ายเงินฝากหรือเงินทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ให้ความคุ้มครองสูงกว่า เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น จะขอยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านของไทยคือ มาเลเซียและสิงคโปร์ที่ได้ร่วมกันประกาศประกันเงินฝากในบัญชีธนาคารทั้งหมดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2551 จนถึงเดือนธันวาคม 2553 เนื่องจากเศรษฐกิจและการเงินของทั้ง 2 ประเทศมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากสิงคโปร์มีมาตรการนี้ออกมาแต่มาเลเซียไม่ทำตาม ก็จะมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเคลื่อนย้ายเงินฝากจากมาเลเซียไปสิงคโปร์

อย่างไรก็ดี จากรายงานผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์สำหรับปี 2551 ของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมมีเสถียรภาพ โดยธนาคารทุกแห่งได้กันสำรองตามเกณฑ์มาตรฐานบัญชีสากล(IAS 39) ครบถ้วนแล้วตั้งแต่ปี 2550 ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีการเตรียมความพร้อมไว้รองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่ดีขึ้น นอกจากนี้แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการนำเกณฑ์ Basel II มาเริ่มใช้ ณ สิ้นปี 2551 ทำให้ฐานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS) อยู่ที่ระดับร้อยละ 14.2 ซึ่งก็ยังสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำตามกฎหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 8.5 และมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Gross Non Performing Loan) คิดเป็นร้อยละ 5.3 ของยอดสินเชื่อรวม และ Net NPL ร้อยละ 2.9 ของยอดสินเชื่อรวม ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้านี้ และการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีต่อการถือสินทรัพย์ต่างประเทศของบริษัทหรือสถาบันการเงินต่างประเทศมีประมาณร้อยละ 1.3 ของสินทรัพย์ ต่างประเทศทั้งหมดที่ธนาคารพาณิชย์ถือสินทรัพย์อยู่ และการลงทุนใน Collateralized Debt Obligation (CDO) ก็มีเพียงประมาณร้อยละ 0.2

ถึงแม้ไทยจะมีระบบการเงินที่เข้มแข็ง แต่การที่เศรษฐกิจโลกมีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดและหลายประเทศได้ประกาศเพิ่มวงเงินประกันและ/หรือประกันเงินฝากเต็มจำนวนแล้ว ไทยก็ต้องมีมาตรการเพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเสนอมาตรการโดยให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากยืดระยะเวลาคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 2 ปี ตามเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยตารางข้างล่างนี้แสดงการเปรียบเทียบระหว่างการให้ความคุ้มครองเงินฝากตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 และร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น พ.ศ. .... ที่กระทรวงการคลังเสนอ

หากพิจารณาถึงการขยายระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝากแบบเต็มจำนวนในปีที่ 2 และปีที่ 3 (11 สิงหาคม 2552 - 10 สิงหาคม 2554) จะคุ้มครองผู้ฝากเงินเพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 0.02 แต่จะคุ้มครองเงินฝากเพิ่มเป็นร้อยละ 18.11 ของเงินฝากทั้งระบบ นอกจากนี้แล้ว การขยายระยะเวลาการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนเพิ่ม 2 ปี จะสามารถครอบคลุมถึงประเภทบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองจำกัดจำนวนตามกฎหมายตั้งแต่ปี 2552 ที่เริ่มลดวงเงินคุ้มครองเป็นต้นไป เช่น เงินฝากของบริษัทมหาชนมูลนิธิ องค์กรการกุศล สหกรณ์ประเภทต่างๆ เป็นต้น โดยบัญชีประเภทดังกล่าวถือเป็นบัญชีของผู้ฝากเงินรายใหญ่ ซึ่งจะส่งผลดีทางจิตวิทยาต่อระบบการเงินของประเทศด้วย

สรุปคือ ประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องขยายระยะเวลาคุ้มครองเงินฝากเพิ่มขึ้นอีก 2 ปี เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งในการป้องกันมิให้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกมีผลกระทบต่อจิตวิทยาความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินในระบบสถาบันการเงินไทย รวมทั้งรักษาระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนิติบุคคลที่มีเงินฝากในบัญชีเกินกว่าที่กฎหมายเดิมกำหนดไม่ให้ตื่นตระหนกถอนเงินฝากของตนออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ให้การคุ้มครองที่สูงกว่า ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

**บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียนมิได้สะท้อนถึงองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดแต่อย่างใด**

โดย จรัสวิชญ สายธารทอง

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ