รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 เมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 2, 2009 11:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 เม.ย. 2552

SUMMARY:

1. พาณิชย์เผยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมี.ค.หดตัวร้อยละ -0.2

2. 6 เดือนมีผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนรับประโยชน์แทนการว่างงานจำนวน 328,642 คน

3. ความเชื่อมั่นนักธุรกิจญี่ปุ่นร่วงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

HIGHLIGHT:
1. พาณิชย์เผยตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมี.ค.หดตัวร้อยละ -0.2
  • กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน มี.ค.52 อยู่ที่ 103.6 ลดลงร้อยละ 0.2 จากเดือน มี.ค. 2551 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากเดือน ก.พ. 2552 และ CPI เฉลี่ยช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มี.ค.52) ลดลงร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน มี.ค.2552 อยู่ที่ระดับ 102.8 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากเดือน มี.ค.2551 แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน ก.พ.2552 และ Core CPI เฉลี่ยช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.52) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุสำคัญที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบนั้นเกิดจากราคาน้ำมันในประเทศลดลงตามราคาในตลาดโลก และยังเกิดจากมาตรการของรัฐบาลในการบรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟ และค่ารถโดยสารสาธารณะ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงบ้างจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่าไม่มีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงิน ทั้งนี้ ทางสศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของในปี 2552 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี
2. 6 เดือนมีผู้ประกันตนขึ้นทะเบียนรับประโยชน์แทนการว่างงานจำนวน 328,642 คน
  • รมต.กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านแรงงานว่า ตั้งแต่เดือนต.ค.51 จนถึงวันที่ 20 ม.ค.52 พบว่า ตัวเลขผู้ประกันตนที่มาขอขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งสิ้นจำนวน 328,642 คน แบ่งเป็นการเลิกจ้าง 118,636 คน ลาออกเอง 210,006 คน สำนักงานประกันสังคม (สปส.)จ่ายเงินสิทธิประโยชน์ไปแล้ว 2,983.86 ล้านบาท
  • ทั้งนี้ การที่มีจำนวนผู้ลาออกจะมีปริมาณมากกว่าการเลิกจ้างนั้น เนื่องจากนายจ้างลดชั่วโมงทำงาน และไม่มีค่าล่วงเวลา ส่งผลให้รายได้ของลูกจ้างลดลงประกอบกับขาดความเชื่อมั่นในสถานภาพของบริษัทว่าจะสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้หรือไม่ จึงตัดสินใจลาออกเพื่อไปหาแหล่งทำงานใหม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่าจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 51 ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงและการจ้างงานของไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มมากขึ้น (ตัวเลขการว่างงานล่าสุดในเดือนม.ค.52 อยู่ที่ร้อยละ 2.4) ทั้งนี้ คาดว่าหากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลดลง จากกรณีฐานร้อยละ 1.0 ต่อปี จะส่งผลให้การจ้างงานลดลง 3.3 แสนคน ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อดูแลและบรรเทาปัญหาการว่างงานบางส่วนแล้ว เช่น โครงการต้นกล้าอาชีพ โดยใช้เงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 6.9 พันล้านบาท และการเร่งขยายสินเชื่อเพื่อให้บริหารสินค้าคงคลังของผู้ประกอบการเพื่อให้รักษาระดับการจ้างงาน
3. ความเชื่อมั่นนักธุรกิจญี่ปุ่นร่วงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
  • เอเอฟพี รายงานว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นนักธุรกิจญี่ปุ่นรายไตรมาสหรือ ดัชนี “ทันกัน” ในเดือนมีนาคม 52 ลดลงมาอยู่ที่ -58 จาก -24 ในไตรมาสก่อนหน้า ถือเป็นการร่วงลงทำสถิติต่ำสุดตั้งแต่ปี 2518 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่นับจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยช่วงหลังสงครามโลก ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกของญี่ปุ่นลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับปีก่อน ตัวเลขว่างงานทุบสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี และตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง ล้วนส่งผลกระทยทางลบต่อผู้ผลิตญี่ปุ่นที่เป็นกลจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขดัชนีทันกันอยู่ในระดับติดลบติดต่อกัน 5 ไตรมาสแล้วนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 51 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศทางเศรษฐกิจญีปุ่นที่ยังคงซบเซาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากญี่ปุ่นได้เริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 51 และล่าสุดตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 51 ยังคงหดตัวลงมากขึ้นถึงร้อยละ -13.4 %qoq ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าในปี 2552 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังคงซบเซาต่อเนื่อง โดยทั้งปี 2552 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -5.2 ถึง -4.7 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ