รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 3 เมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 3, 2009 11:40 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 เม.ย. 2552

SUMMARY:

1. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ เผยภาคเอกชนร้อยละ 54.9 จีดีพีจะติดลบร้อยละ 2-4

2. เอกชนคงยอดผลิตรถยนต์ 1.08 ล้านคัน

3. ภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯยังคงส่งสัญญาณอันตราย

HIGHLIGHT:
1. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ เผยภาคเอกชนร้อยละ 54.9 จีดีพีจะติดลบร้อยละ 2-4
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยภาคเอกชนร้อยละ 54.9 จีดีพีของไทยจะติดลบร้อยละ 2-4 แต่มีความเป็นไปได้ที่จีดีพีของไทยจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการรัฐบาลที่เริ่มส่งผลชัดเจน โดยภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินในช่วงไตรมาสที่ 3 และเร่งรัดโครงการเมกะโปรเจคในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.52 ซึ่งหากรัฐบาลทำได้จะทำให้ศ.ก.ไทยปี 2553 ฟื้นตัวดีขึ้น และจากผลสำรวจพบว่า นักธุรกิจร้อยละ 74.9 ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง และร้อยละ 60 เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก โดยผู้ประกอบการสามารถประคองธุรกิจตนเองได้ประมาณ 8 เดือน หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นและเอกชนไม่มีสภาพคล่องเสริม การจ้างงานจะลดลงร้อยละ 10 หรือ 1.5 ล้านคน ซึ่งปัจจัยที่ผลกระทบต่อธุรกิจขณะนี้มากที่สุด คือ สถานการณ์การเมืองไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลจากการเพิ่มรายจ่ายกลางปี 1.167 แสนล้าน วันนี้มีการเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 1 ใน 4 และเม็ดเงินจะเริ่มเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจใน Q2/52 — Q3/52 อีกทั้ง จะมีเม็ดเงินจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 มูลค่า 1.56 ล้านล้านบาท บวกกับวงเงินกู้จากต่างประเทศ 7.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินบางส่วนจะเข้ามาอัดฉีดในระบบเศรษฐกิจใน Q4/52 ซึ่งคาดว่าทั้งปี GDP จะหดตัวร้อยละ -2.5 ต่อปี (ตามที่แถลงข่าวไป ณ 26 มีนาคม 2552)
2. เอกชนคงยอดผลิตรถยนต์ 1.08 ล้านคัน
  • ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตฯ (สอท.) กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ในไทยไตรมาสแรกปี 52 ลดลงค่อนข้างมาก แต่คาดว่าไตรมาส 3-4 ยอดขายน่าจะเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ 1.08 ล้านคัน ส่วนอีโคคาร์ยังคงเดินหน้าลงทุนตามแผนเดิม คาดปี 53 จะมีรถออกจากสายพานการผลิต และเชื่อว่าไทยยังคงรักษาการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ได้ต่อไปได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ถือว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากมีการจ้างงานมากกว่า 3.5 แสนคน (ไม่รวมธุรกิจเกี่ยวเนื่อง) และมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้ง Forward และ Backward Linkage กว่า 648 บริษัท จึงมีความจำเป็นที่จะต้องบรรเทาผลกระทบทางลบต่อการผลิตและการจ้างงาน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์มีสัดส่วนเพื่อการส่งออกร้อยละ 50 ซึ่งจากภาวะอุปสงค์ในตลาดโลกที่ลดลงจึงได้กระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ค่อนข้างมาก และอีกร้อยละ 50 เป็นการขายภายในประเทศ ซึ่งอุปสงค์อยู่ในภาวะอ่อนแอมากเช่นกัน
3. ภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯยังคงส่งสัญญาณอันตราย
  • สถาบันเพื่อการจัดการผลผลิต (ISM) รายงาน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (Purchasing Manger Index: PMI) ซึ่งเทียบเท่ากับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เดือนมี.ค. 52 ลดลงต่อเนื่องต่ำกว่าระดับ 40 เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 36.3 ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 35.8 แต่ยังเป็นสัญญาณว่าภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในแง่ของการจ้างงาน ยังคงอยู่ในภาวะถดถอย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขดัชนีISM PMI อยู่ในระดับต่ำกว่า 40 ถึง 6 เดือนแล้วนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 51 สะท้อนให้เห็นถึงภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯที่กำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากวิกฤตการเงินที่ลามมาถึงภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ที่ยังคงประสบปัญหาต่อเนื่อง จนต้องประกาศขอรับความช่วยเหลือจากทางการเป็นรอบที่ 2 ซึ่งปัญหาในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯนี้ อาจส่งผลถึงการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ของไทย รวมถึงการส่งออกวัตถุดิบต่างๆที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP สหรัฐฯ ในปี 52 จะหดตัวร้อยละ -4.1 ถึง -3.6 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ