รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 เมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 7, 2009 11:51 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 เม.ย. 2552

SUMMARY:

1. สทท.คาดจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 20.0 ในช่วงงเทศกาลสงกรานต์

2. กสิกรฯเผยยอดให้กู้ไตรมาส 1 ติดลบ

3. ภาวะการจ้างงานสหรัฐฯยังคงส่งสัญญาณอันตราย

HIGHLIGHT:
1. สทท.คาดจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ 20.0 ในช่วงงเทศกาลสงกรานต์
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยถึงผลการสำรวจแนวโน้มการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 52 ในละจังหวัด พบว่า จากปัญหาเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองในประเทศได้ส่งผลกระทบต่อยอดการจองที่พักโรงแรมทั่วประเทศลดลงเฉลี่ยร้อยละ 20.0 (หรือคิดเป็นมูลค่า 5,000 ล้านบาท) โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ยอดการจองห้องพักโรงแรมลดลงในช่วงสงกรานต์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นหลักนั้น สะท้อนให้เห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาคมโลกระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้นภาครัฐอาจต้องหันมากระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้มากขึ้น เพื่อรักษาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ขยายตัวต่อไปได้ และรักษาระดับการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวที่มีแรงงานอยู่ถึง 2.6 ล้านคน ทั้งนี้ สศค.คาดว่ายอดจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2552 อยู่ที่ 12.8 ล้านคน
2. กสิกรฯเผยยอดให้กู้ไตรมาส 1 ติดลบ
  • ธ.กสิกรไทย เผย ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อเดือนมี.ค. เริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าในช่วงเดือนม.ค. และก.พ. ที่ติดลบทั้ง 2 เดือน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการลดลงตามฤดูกาล ทั้งนี้ การขยายสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค. ยังไม่สามารถชดเชยการติดลบในช่วง 2 เดือนแรกได้ ส่งผลให้ยอดการขยายสินเชื่อในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 (ม.ค.-มี.ค.) ยังอยู่ในระดับติดลบ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ยอดการปล่อยสินเชื่อในช่วงไตรมาสแรกลดลง เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังมีวี่แววถดถอยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาคเอกชนลดการขอสินเชื่อเพื่อโครงการลงทุนใหม่ๆ อีกทั้งสถาบันการเงินยังคงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ก่อให้เกิดภาวะสินเชื่อตึงตัว (Credit Crunch)

ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจใช้เครื่องมือทางการเงินกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสินเชื่อ ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (จากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 1.50 ) เพื่อให้การใช้จ่ายภายในประเทศเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในยามที่ภาคการส่งออกถดถอย ตามอุปสงค์ภายนอกประเทศที่ลดลง

3. ภาวะการจ้างงานสหรัฐฯยังคงส่งสัญญาณอันตราย
  • สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ (BLS) รายงาน ภาวะการจ้างงานเดือนมี.ค. 52 โดยตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรลดลงอีกถึง 663,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกันตั้งแต่เดือนม.ค.51 ส่งผลให้อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 8.5 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา ทั้งนี้ นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯครั้งนี้ประทุขึ้นมา มีตำแหน่งงานลดลงแล้วกว่า 5.1 ล้านตำแหน่ง ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงอยู่ในภาวะถดถอย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯที่ย่ำแย่ สะท้อนให้เห็นถึงผลต่อเนื่องจากการถดถอยของภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากวิกฤตการเงิน อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 787 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจสหรัฐไม่ให้ตกอยู่ในภาวะวิกฤตเรื้อรังได้ โดยน่าจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 52 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP สหรัฐฯ ในปี52 จะหดตัวร้อยละ -4.1 ถึง -3.6 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ