คำแถลงข่าวการถอนการเฝ้าระวังระดับเครดิตที่เป็นลบ (Credit Monitor (Negative)) ของประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 8, 2009 11:35 —กระทรวงการคลัง

คำแถลงข่าวการถอนการเฝ้าระวังระดับเครดิตที่เป็นลบ (Credit Monitor (Negative)) ของประเทศไทย

โดยบริษัท Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR)

กระทรวงการคลังโดยนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอเรียนว่า Japan Credit Rating Agency, Ltd. (JCR) ได้แถลงข่าวการถอนการเฝ้าระวังระดับเครดิตที่เป็นลบ (Credit Monitor (Negative)) ออกจากระดับเครดิตราสารหนี้ระยะยาว (Long-Term Senior Debts) เมื่อวันอังคารที่ 7 เมษายน 2552 เวลา 13.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดย JCR ยังคงยืนยันระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Long-Term Senior Debts) ที่ระดับ A- ระดับเครดิตตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินบาท (Local Currency Long-Term Senior Debts) ที่ระดับ A+ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. การถอนการเฝ้าระวังระดับเครดิตที่เป็นลบของ JCR ตั้งอยู่บนมุมมองของ JCR ที่ว่า ความไม่สงบทางการเมืองและสังคมของประเทศไทย อันเนื่องจากการปิดล้อมโดยกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลและการเข้ายึดครองสนามบินนานาชาติในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่ผ่านมาได้เริ่มผ่อนคลายลง นับตั้งแต่การจัดตั้งคณะรัฐบาลนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลสามารถจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ซึ่งให้ความสำคัญกับประชาชนระดับรากหญ้าและผู้มีรายได้น้อย ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น รัฐบาลได้จัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หลังจากมีการเลื่อนกำหนดการที่คาดว่าจะจัดประชุมในเดือนธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา อีกทั้งกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลยังคงชุมนุมกันภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองซึ่งเป็นคณะกรรมการอิสระ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและเสนอแนะการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยบรรเทาความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้

2. ดุลการค้าการชำระเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งและฐานะการคลังของรัฐบาลที่มีเสถียรภาพยังคงเป็นปัจจัยที่สนับสนุนระดับเครดิตของประเทศไทย แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอยลงและการถูกปิดล้อมชั่วคราวของสนามบินนานาชาติของประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงอยู่ในภาวะถดถอยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2552 จะยังคงเป็นไปในทิศทางลบ อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังคงมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงประกอบกับดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล สำหรับด้านการคลังของประเทศ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีการบริหารจัดการทางด้านการคลังอย่างมีวินัย ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 38 ซึ่งเป็นระดับที่สามารถบริหารจัดการได้

3. อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงทางการเมืองและสังคมของประเทศในปี 2551 ที่ผ่านมายังคงไม่สามารถขจัดให้หมดสิ้นได้ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจสูญเสียการสนับสนุนจากประชาชนและอาจเผชิญกับความยุ่งเหยิงทางการเมืองและสังคมอีกครั้ง รวมทั้งความสามารถในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจถูกบั่นทอนลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้ (1) การถดถอยของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการว่างงาน (2) ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มุ่งเน้นประชาชนในชนบทมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง อาจก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำได้ (3) การปฏิรูปทางการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เศรษฐกิจไทยอาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวระยะหนึ่งเพื่อให้ฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง ซึ่งในสภาวการณ์เช่นนี้ อาจไม่สามารถรักษากรอบความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวได้

4. ทั้งนี้ JCR จะยังคงเฝ้าระวังในประเด็นต่างๆ ดังนี้ (1) ความพยายามในการบริหารงานของรัฐบาลเพื่อให้เกิดความมีเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม (รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ทิศทางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปฏิรูปทางการเมือง) และ (2) ผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่มีต่อเศรษฐกิจไทยและการดำเนินนโยบายของรัฐบาล

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

02-265-8050 ต่อ 5510

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 48/2552 7 เมษายน 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ