รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 เมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 20, 2009 12:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 เม.ย. 2552

SUMMARY:

1. นักวิเคราะห์คาดการเมืองทำให้บาทอ่อนค่าถึง 37 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาส 2

2. เหตุการณ์สงบ-ส่งออกฟื้น

3. การเมืองร้อนคาดอสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 2 ชะลอตัวร้อยละ 5—10 จากไตรมาสแรก

HIGHLIGHT:
1. นักวิเคราะห์คาดการเมืองทำให้บาทอ่อนค่าถึง 37 บาทต่อดอลลาร์ในไตรมาส 2
  • ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ (ไทย) คาดว่าในไตรมาส 2 เงินบาทจะอ่อนค่าอยู่ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยการเมืองยังเป็นปัจจัยลบ และเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อยรับข่าวสถานการณ์การเมืองในประเทศในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปัจจัยลบจากการที่ Fitch Rating และ S&P’s ปรับลดอันดับเครดิตประเทศและสถาบันการเงินไทยเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ปัจจัยบวกจากการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นเอเชียช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่าแม้ว่าค่าเงินบาทจะเผชิญกับปัจจัยลบทางการเมือง แต่ยังคงทรงตัวในระดับ 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยที่ทำให้เงินบาทยังคงแข็งค่าได้แก่ 1. ดุลการค้าของไทยยังคงเกินดุลในระดับสูง เนื่องจากการนำเข้าหดตัวกว่าการส่งออกมาก จากการบริโภคและลงทุนในประเทศที่ลดลง โดยในสองเดือนแรกของปี 52 ดุลการค้าไทยเกินดุลถึง 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ยังคงมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิในไทย 2. การที่สภาวะตลาดเงินทุนโลกปรับตัวดีขึ้น จากการที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีสัญญาณพลิกฟื้นขึ้น ประกอบกับผลประกอบการของวานิชธนกิจขนาดใหญ่ดีเกินคาด ซึ่งเป็นผลบวกต่อตลาดหลักทรัพย์เอเชียและไทย ทั้งนี้ หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้นขณะที่เศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะอุปสงค์ภายในยังคงชะลอตัว น่าจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าทั้งภาคการส่งออกและตลาดการเงิน ทำให้ค่าเงินบาทไม่อ่อนค่าลงมากจากระดับปัจจุบัน
2. เหตุการณ์สงบ-ส่งออกฟื้น
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า มีความสำคัญต่อผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก เนื่องจากลูกค้าเริ่มสั่งสินค้าเพื่อส่งมอบในไตรมาส 4 และวางจำหน่ายช่วงเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลขายสินค้าประจำปี ประกอบกับสต๊อกสินค้าที่มีอยู่เริ่มน้อยลง จึงต้องเริ่มสั่งซื้อเพิ่มเติมหากประเทศคู่ค้าไม่เชื่อมั่นประเทศไทย ก็จะหันไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศอื่น ทำให้ไทยเสียโอกาส ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดตอนนี้ รัฐบาลต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างคลี่คลายไปในทางที่ดี ทั้งการส่งออกและการลงทุน ทั้งนี้ ไตรมาส 4 เป็นช่วงที่ไทยส่งออกสินค้ามากที่สุดในเกือบทุกกลุ่ม ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.จะติดตามคำสั่งซื้อในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปี ก่อนจะประเมินภาพรวมเศรษฐกิจปี 2552
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้นตามประกอบกับสถานการณ์เมืองของไทยมีเสถียรภาพจะทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจกลับคืนมา ซึ่งต่อการค้าและการลงทุน ทั้งนี้ 2 เดือนแรกปี 2552 มูลค่าการส่งออกของไทยเท่ากับ 22.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -19.2 ต่อปี
3. การเมืองร้อนคาดอสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 2 ชะลอตัวร้อยละ 5 — 10 จากไตรมาสแรก
  • อุปนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงวันหยุดสงกรานต์ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 2 ชะลอตัวลงประมาณร้อยละ 5 — 10 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก เนื่องจากผู้บริโภคเกิดความไม่มั่นใจจึงไม่ตัดสินใจซื้อ ด้านนายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ตลาดคอนโดมิเนียมในไตรมาสแรกปีนี้ชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 10 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ถูกลง ทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อบ้านเดี่ยวและทาวเฮาส์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งปีคาดว่าตลาดคอนโดมิเนียมจะยังโตอยู่ที่ร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่าปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ จะส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง จากอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกและความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง สำหรับอุปทานในภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัญญาณชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน โดย เครื่องชึ้ภาคการลงทุนจากยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กภายในประเทศในเดือน ก.พ. 52 หดตัวลงร้อยละ -13.8 และ -43.8 ต่อปี ตามลำดับ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ