รายได้รัฐบาลประจำเดือนมีนาคม 2552 และในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 20, 2009 11:00 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนมีนาคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 104,371 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 11,110 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 - มีนาคม 2552) จัดเก็บได้รวม 559,234 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ ตามเอกสารงบประมาณ 98,277 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1. เดือนมีนาคม 2552 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 104,371 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณ การตามเอกสารงบประมาณ 11,110 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.6 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.1)

ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ต่ำกว่า ประมาณการ 11,641 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.4 เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าสินค้าต่ำ กว่าประมาณการถึงร้อยละ 38.3 เป็นไปในทิศทางเดียวกับอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,325 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.5 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 3,941 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.0 โดยมีสาเหตุสำคัญคือภาษีที่จัดเก็บจากฐานเงินเดือนและค่าจ้างต่ำกว่าประมาณการ และภาษีรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,614 ล้านบาท หรือร้อยละ 48.9 อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีสุราสูงกว่าประมาณการ 1,593 ล้านบาท หรือร้อยละ 43.7 เนื่องจากข่าวการปรับขึ้นอัตราภาษี ทำให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้า

2. ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 - มีนาคม 2552) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 559,234 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 98,277 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.9 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.7) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมหลัก และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าประมาณการ ประกอบกับการคืนภาษีของกรมสรรพากรที่เพิ่มขึ้น ในอัตราที่สูงในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 447,795 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งบประมาณ 46,941 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.5 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.1) ภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำ กว่าประมาณการที่สำคัญได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 45,925 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.6 สาเหตุสำคัญมาจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าและการบริโภคในประเทศที่ต่ำกว่า ประมาณการร้อยละ 29.6 และ 7.1 ตามลำดับ (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.2 และ 2.9 ตามลำดับ) นอกจากนี้ การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายังต่ำกว่าประมาณการจำนวน 8,069 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0 เป็นผลจากภาษีที่จัดเก็บจากฐานเงินเดือน ค่าจ้าง และการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต่ำกว่าประมาณการ อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,581 และ 3,296 ล้านบาท ตามลำดับ

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 121,929 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตาม เอกสารงบประมาณ 33,832 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.4) โดยสาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีน้ำมันที่ต่ำกว่าประมาณการถึง 20,931 ล้านบาท หรือร้อยละ 47.4 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ รวมทั้งปริมาณการใช้ น้ำมันที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ และภาษีรถยนต์ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 9,608 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.5 เนื่องจากประชาชนชะลอการซื้อสินค้าคงทน ประกอบกับสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้น

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 41,437 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งบประมาณ 8,663 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 15.7) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่า ประมาณการ 8,755 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.9 เป็นผลจากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเป็นสำคัญ โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (ตุลาคม 2551 - กุมภาพันธ์ 2552) มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. และเงินบาทต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.2 และ 11.3 ตามลำดับ

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 29,969 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 5,327 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.1 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 31.6) โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ขอเลื่อนการนำส่งรายได้ออกไป รวมทั้ง บมจ.ทีโอที ยังไม่สามารถนำส่งเงินปันผลได้ อย่างไรก็ดี บมจ.ท่าอากาศยานไทย และโรงงานยาสูบนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ

2.5 หน่วยงานอื่น นำส่งรายได้รวม 45,561 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 5,146 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 26.1) เนื่องจากในช่วงต้นปีงบประมาณ การจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมยังได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่ยังอยู่ใน ระดับสูง รวมทั้ง มีรายได้เบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร 109,962 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 10,334 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 19.5) ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงกว่าประมาณการ 6,734 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.9 และการคืนภาษีอื่น ๆ สูงกว่าประมาณการ 3,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.3

3. สรุป

จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 ที่ต่ำกว่า ประมาณการ 98,277 ล้านบาทนั้น เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลง และการดำเนินมาตรการด้านภาษีเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ตลอดทั้งปีงบประมาณ 2552 ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ (1,604,640 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะดูแลฐานะทางการคลังและการบริหารเงินสดของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเบิกจ่ายมีความต่อเนื่องและเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3545

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 49/2552 20 เมษายน 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ