รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 เมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 22, 2009 11:18 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 เม.ย. 2552

SUMMARY:

1. การส่งออกเดือน มี.ค. 52 ติดลบร้อยละ 23 เอกชนหวังฟื้นปลายปี

2. นรม. รับสถานการณ์การเมืองกระทบความเชื่อมั่น จีดีพีมีโอกาสหดตัวร้อยละ 4-5

3. มาตรการกระตุ้นการบริโภคของจีนเริ่มเห็นผลแล้ว

HIGHLIGHT:
1. การส่งออกเดือน มี.ค. 52 ติดลบร้อยละ 23 เอกชนหวังฟื้นปลายปี
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยยอดส่งออกเดือน มี.ค.ปรับตัวลดลงร้อยละ 23.1 ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 11,555.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมสำคัญ ลดลงร้อยละ 20.6 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญลดลงร้อยละ 21.6 สินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 32.0 ทำให้การส่งออกในไตรมาสแรกของปี 52 ปรับตัวลดลงร้อยละ 20.55 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ารวม 33,787.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการนำเข้าเดือน มี.ค. มีมูลค่า 9,454.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 35.1 โดยสินค้านำเข้าสำคัญปรับตัวลดลงทุกหมวด ทำให้ในเดือน มี.ค. ประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,100.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การชะลอตัวของการส่งออกในเดือน มี.ค. มีสาเหตุหลักมาจากการส่งออกไปยังตลาดหลักมีการหดตัวถึงร้อยละ 33.3 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนในการส่งออกร้อยละ 44.4 ของการส่งออกทั้งหมด โดยตลาดหลักที่หดตัวประกอบไปด้วย สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, สหภาพยุโรป, อาเซียน ซึ่งต่างชะลอการนำเข้าเนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดส่งออกใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง และ แอฟริกา มีการขยายตัวร้อยละ 3.3 และ 17.6 ตามลำดับ จึงนับเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการบรรเทาผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดหลักที่ปรับตัวลดลงได้
2. นรม. รับสถานการณ์การเมืองกระทบความเชื่อมั่น จีดีพีมีโอกาสหดตัวร้อยละ 4-5
  • นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คาดอัตราการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้จะลงจากเดิมที่คาดว่าจะติดลบร้อยละ -2 โดยอาจจะติดลบสูงถึงร้อยละ — 4 ถึง -5 จากเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวและต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยที่ประชุม ครม. ได้ปรับปรุงกรอบงบประมาณประจำปี 2553 โดยปรับลดงบประมาณรายจ่ายเหลือ 1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง วงเงิน 1.56 ล้านล้านบาท ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังหาแหล่งเงินทุนและนำเสนอคณะรัฐมนตรีในสองสัปดาห์หน้า โดยไม่ให้ยอดหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปี 2553 เกิน 60% ของ GDP นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ได้พิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวและมอบหมายให้กระทรวงการคลังปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจท่องเที่ยว
  • สศค. วิเคราะห์แล้วเห็นว่าเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองนอกจากจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจให้ติดลบมากขึ้นแล้ว ยังกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอยู่แล้ว และส่งผลให้ยอดการว่างงานในภาคการท่องเที่ยวสูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือนมกราคม 2552 ซึ่งมีอัตราการว่างงานภาคโรงแรมและภัตตาคารที่ร้อยละ 61.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น มาตรการช่วยเหลือและการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคการท่องเที่ยวจึงมีความจำเป็นเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม การปรับลดงบประมาณรายจ่ายและรายได้ของปีงบประมาณ 2553 จะช่วยให้งบประมาณขาดดุลลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขาดดุลประมาณ 3.9 แสนล้านบาท ลงเหลือ 3.5 แสนล้านบาท และ สศค. คาดว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2553 หนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ร้อยละ 50.5
3. มาตรการกระตุ้นการบริโภคของจีนเริ่มเห็นผลแล้ว
  • นายกรัฐมนตรีของประเทศจีนระบุว่าการบริโภคมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในแถบภาคกลางและภาคตะวันตกซึ่งมีความเจริญน้อยกว่าที่อื่นๆ โดยยอดการขายปลีกของจีนในช่วงไตรมาสแรกขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 15.9 ต่อปี ในขณะที่ยอดขายรถโดยเฉพาะรถขนาดเล็กจำพวกมินิแวนซึ่งมีการผลิตในประเทศจีนนั้นยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในแถบชนบท ซึ่งตัวเลขยอดขายที่ขยายตัวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของจีนและความพยายามในมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของรัฐบาลจีน
  • สศค. วิเคราะห์ว่าผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนวงเงินสูงถึง 4 ล้านล้านหยวนที่เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 ได้ช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชนในปี 2552 ให้ไม่ถดถอยมากนัก โดยสะท้อนจากตัวเลขยอดขายปลีกและจากตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 ที่พุ่งสูงถึงร้อยละ 26.5 ต่อปี จากการลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ถึงแม้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอย่างชัดเจน แต่เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศของจีนและรูปแบบการปกครองแบบรัฐบาลท้องถิ่นมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจจีนสามารถฟื้นตัวเร็วและเติบโตต่อไปได้ สศค. เห็นว่าเมื่อเศรษฐกิจจีนฟื้นจะช่วยให้การส่งออกขนาดไทยขยายตัวได้ดีขึ้นด้วยเนื่องจากการส่งออกของไทยไปที่จีนมีน้ำหนักใหญ่เป็นอันดับที่ 4 หรือร้อยละ 9.1 ของการส่งออกรวมของไทย

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ