รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 เมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 23, 2009 11:39 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 เม.ย. 2552

SUMMARY:

1. แบงก์ชาติปรับเป้า GDP ปีนี้ติดลบ -3.5 ถึง -1.5 ต่อปี

2. ส.อ.ท.เผยยอดขายรถยนต์เดือนมี.ค.หดตัวร้อยละ -37.8

3. ส่งออกเดือนมี.ค.52 ของญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ -45.6 ต่อปี

HIGHLIGHT:
1. แบงก์ชาติปรับเป้า GDP ปีนี้ติดลบ -3.5 ถึง -1.5 ต่อปี
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือน เม.ย. โดยปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2552 ลงมาที่ -3.5 ถึง -1.5 ต่อปี จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.0 — 2.0 ต่อปี พร้อมมองว่ามีโอกาสที่ GDP ในปีนี้จะติดลบไปมากกว่านั้นได้ โดยอาจหดตัวไปถึงร้อยละ 4 — 5 ต่อปี ตามที่มีผู้คาดการณ์ไว้ หากเศรษฐกิจโลกยังคงทรุดตัวลงต่อเนื่อง และสถานการณ์ทางการเมืองยังคงวุ่นวายยืดเยื้อออกไป นอกจากนั้น ยังคาดการณืว่า GDP ในปี 2553 จะปรับลดลงมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 — 3.5 ต่อปี จากเดือมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2 — 4 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2552 ที่ ธปท. รายงานไว้ที่ร้อยละ -3.5 ถึง -1.5 ต่อปีนั้น มีค่ากลางอยู่ในระดับเดียวกันกับที่ สศค. แถลงข่าวไว้ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน มี.ค. 52 ที่ร้อยละ -2.5 ต่อปี (ช่วง -3.0 ถึง -2.0 ต่อปี) แต่ผลจากความไม่สงบทางการเมืองในช่วงสงกรานต์ ทำให้เศรษฐกิจหดตัวมากกว่าเดิม เนื่องจาก 1) จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงร้อยละ -40 -30 และ -10 ต่อปี ใน Q2 Q3 และ Q4 ตามลำดับ (ลดลงจากปีก่อน 3.7 ล้านคน) 2) ผู้บริโภคและนักลงทุนชะลอการใช้จ่ายและเลื่อนการลงทุนออกไป และ 3) เหตุผลในเชิงเทคนิคคือมีวันหยุดทำการเพิ่มอีก 3 วัน ซึ่งมีผลต่อ VAT การส่งออก และการจ้างงาน
2. ส.อ.ท.เผยยอดขายรถยนต์เดือนมี.ค.หดตัวร้อยละ -37.8
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผยถึง ยอดขายรถยนต์ในประเทศของเดือนมีนาคมมีจำนวนทั้งสิ้น 41,328 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -37.8 โดยไตรมาสที่ 1 ปี 52 มียอดขายรถยนต์ทั้งสิ้น 107,774 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ - 33.4 ในขณะที่ยอดการผลิตรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2552 มีจำนวนทั้งสิ้น 63,454 คัน ลดลงร้อยละ - 52.6 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมปีก่อน ขณะที่การผลิตรถยนต์ในไตรมาส 1 ปี 52 มีจำนวนทั้งสิ้น 196,947 คัน หดตัวลงร้อยละ -46.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เนื่องจาก การที่ยอดขายรถยนต์มสาเหตุหลักมาจาก 1) ผลจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลความต้องการซื้อรถยนต์ลดลง เนื่อจากต้องคำนึงถึงรายได้และการมีงานทำในอนาคต รวมถึงดอกเบี้ยที่อาจลดลงอีก และสินเชื่อ 2) ผู้ผลิตรถยนต์ปรับลดปริมาณการผลิตลงเพราะคำสั่งซื้อลดลง บวกกับมีสินค้าคงคลังเหลืออยู่ ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น และ 3) ปัจจัยฐานสูงของช่วงเดียวกันของปีก่อนที่รัฐบาลมีนโยบายลดภาษีรถยนต์ E20 ส่งผลให้ผู้บริโภคเร่งซื้อรถยนต์ในปีก่อนหน้า รายได้แรงงานอาจลดลงตามการลดชั่วโมงการทำงานหรือถูกลดเงินเดือนหรือถูกเลิกจ้าง ทำให้รายได้ประชาชนโดยรวมลดลง ส่งผลให้ยอดการซื้อรถยนต์ในปี 52 ปรับตัวลดลง
3. ส่งออกเดือนมี.ค.52 ของญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ -45.6 ต่อปี
  • การส่งออกของญี่ปุ่นในเดือนมี.ค.52 หดตัวร้อยละ -45.6 ต่อปี หดตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ-49.4 ต่อปี ในขณะที่การนำเข้าของญี่ปุ่นในเดือนมี.ค. 52 นั้น หดตัวร้อยละ -36.7 ต่อปี หดตัวลดลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -43.0 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าของญี่ปุ่นในเดือนมี.ค. 52 เกินดุล 111.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกของญี่ปุ่นยังหดตัวมาก แต่เป็นครั้งแรกที่การส่งออกหดตัวลดลง อีกทั้งหากพิจารณาตัวเลขการส่งออกของเดือนมี.ค.กับเดือนก.พ. จะเห็นได้ว่า มีการหดตัวเพียงเล็กน้อย ทำให้หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เมื่อพิจารณาในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังตลาดขนาดใหญ่ซึ่งได้แก่ สหรัฐฯ และเอเชีย ล้วนมีการหดตัวที่น้อยลงจากเดือนก่อน โดยในเดือนมี.ค. หดตัวร้อยละ -51.4 และ -39.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -58.4 และ -46.3 ต่อปี ตามลำดับ จากการส่งออกของญี่ปุ่นที่คาดว่าได้ถึงจุดต่ำสุดไปแล้ว อีกทั้งการที่เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว ทำให้เป็นปัจจัยบวกของเศรษฐกิจโลก ที่จะสามารถฟื้นตัวในเวลาอันใกล้ อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 2552 จะอยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ -5.2 ถึง -4.7 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ