รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 เมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 24, 2009 11:27 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 เม.ย. 2552

SUMMARY:

1. รองนายกฯ เผย จัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาท เสร็จสิ้น เม.ย.52

2. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจปรับลดจีดีพีไทยปี2552 ติดลบร้อยละ 4.3 สูญ 1.42 ล้านบาท

3. IMF ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 52 หดตัวถึงร้อยละ -1.3 ต่อปี

HIGHLIGHT:
1. รองนายกฯ เผย จัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.5 ล้านล้านบาท เสร็จสิ้น เม.ย.52
  • รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ เผยจัดทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง มูลค่าการลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท จะเสร็จสิ้นในปลาย เม.ย.52 และจะนำเสนอให้ ครม.พิจารณา 6 พ.ค.52 โดยการกระตุ้นรอบนี้จะเป็นการเน้นด้านเศรษฐกิจ ได้แก่โครงการระยะกลาง-ยาวถึง 3 ปี (2553-2555) ทั้งโครงการด้านแกษตร การขนส่ง โทรคมนาคม รวมถึงการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 ล้านคน โดยเม็ดเงินลงทุนมาจากงบประมาณ การร่วมทุนภาคเอกชน และเงินกู้ โดยคาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตได้อีกร้อยละ 5.0 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 โดยการอัดฉีดวงเงินงบประมาณกว่า 1.56 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 5 แสนล้านบาท นั้น จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 — 2 %yoy และเพิ่มการจ้างงานได้ปีละประมาณ 3 — 6 แสนคน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเม็ดเงิน ความรวดเร็ว และการเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนของภาคเอกชน จาก Sensitivity ทำให้สศค. คาดว่า ทุกๆ 1 แสนล้านบาทที่รัฐบาลเร่งเบิกจ่าย จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ +0.4% จากกรณีฐาน
2. ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจปรับลดจีดีพีไทยปี2552 ติดลบร้อยละ 4.3 สูญ 1.42 ล้านบาท
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย ปรับลดตัวเลขจีดีพีไทยปี 52 ติดลบร้อยละ 4.3 ต่อปีหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ไทยสูญเสียรายได้ 1.42 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 กรณี เป็นไปได้มากสุด (มีโอกาส 60%) หากการเมืองคลี่คลายไตรมาส 3 ศ.ก.ไทยจะขยายตัวติดลบร้อยละ 4.3 ต่อปี จากที่คาดการณ์เดิมติดลบร้อยละ 2.8 ต่อปี โดยภาคธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบดังกล่าวมากสุดรวมถึงต้องรีบเร่งฟื้นฟูโดยเร็วที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยว
  • สศค. วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยปัจจุบันได้รับผลกระทบจากปัจจัยความไม่สงบทางการเมืองมากที่สุด โดยส่งผลกระทบทางจิตวิทยาอย่างมากต่อผู้บริโภค และกระทบต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นแหล่งรายได้หลักและมีความเชื่อมโยงทั้งการเป็นแหล่งการจ้างงาน ทำให้ GDP ไทยหดตัวต่ำกว่าช่วงที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ -3.0 ถึง -2.0 ต่อปี
3. IMF ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 52 หดตัวถึงร้อยละ -1.3 ต่อปี
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกประจำปี 52 ว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -1.3 ต่อปี จากเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี และจะกลับมาขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ประมาณร้อยละ 1.9 ต่อปี ในปี 53 โดยเศรษฐกิจของประเทศกลุ่ม G3 (สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น) จะหดตัวถึงร้อยละ -2.8 -4.2 และร้อยละ -6.2 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจจีนจะเติบโตเพียงร้อยละ 6.5 ต่อปี ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนเล็กน้อย ทางด้านเศรษฐกิจไทย IMF คาดการณ์ว่าจะหดตัวถึงร้อยละ -3.0 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ทำให้ IMF ปรับลดประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจโลกมาจากการที่เศรษฐกิจของสองกลุ่มประเทศหลักหดตัวลดลงมาก ได้แก่ (1) กลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติการเงินอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่ม G3 เกาหลีใต้ และยุโรปตะวันออก และ (2) กลุ่มประเทศที่มุ่งเน้นการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก อันได้แก่ รัสเซีย บราซิล เม็กซิโก และยุโรปตะวันออก เนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศดังกล่าว อนึ่ง การที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างเรื้อรังและรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย รวมทั้งไทย ที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ได้รับผลกระทบที่รุนแรงตาม อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการจีน 585 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เริ่มส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะไทยอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนให้ภาวะการชะลอตัวลงเศรษฐกิจโลกไม่เรื้อรังไปมากกว่านี้และอาจจะมีแนวโน้มเริ่มฟื้นตัวในระดับ 8% ภายใน Q2 และ Q3 ของปีนี้ จาก Sensitivity ทำให้สศค. คาดว่า ทุกๆ 1% ที่เศรษฐกิจคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น จะเอื้อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ +1.0% จากกรณีฐาน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ