นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลของการจัดงานชี้แจงนักลงทุนต่างชาติ (Investor Roadshow) ของกระทรวงการคลัง ในระหว่างวันที่ 23-24 เมษายน 2552 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ว่า “การมาพบกับนักลงทุนครั้งนี้ เราได้มาในช่วงที่นักลงทุนต้องการเข้าถึงข้อมูลและแนวนโยบายของประเทศมากที่สุด ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและการเมือง เราได้มีโอกาสพบกับนักลงทุนโดยรวมประมาณ 30 สถาบัน มีเม็ดเงินที่ดูแลทั้งหมดประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เราจึงได้มีโอกาสที่จะอธิบายถึงภาพรวมของประเทศเพื่อให้เขาได้รับรู้ในข้อเท็จจริง อุปสรรค และโอกาสในการลงทุนในประเทศไทย คำถามที่ได้รับมีความหลากหลายในหลายๆ ประเด็นและโดยรวมสามารถสรุปได้ว่า นักลงทุนยังพร้อมให้โอกาสกับประเทศไทย และสนับสนุนแนวทางนโยบายของรัฐบาล โดยที่ยังรอดูผลของการแก้ปัญหาของประเทศทั้งในส่วนของการเมืองและเศรษฐกิจ” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาและกล่าวนำในหัวข้อ “การฟื้นฟูและพลิกฟื้นประเทศไทยภายใต้การนำของรัฐบาล (Government-led Recovery and Restructuring of Thailand) มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง กล่าวคือ วิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อการหดตัวเศรษฐกิจไทย ผ่านการลดลงของการส่งออก ขณะเดียวกัน ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศในช่วงที่ผ่านมาได้ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยน่าจะหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมจากการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและการลดลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาคการผลิตจะเผชิญความเสี่ยงดังกล่าว แต่ภาคการเงินของไทยยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่มาก ดังจะเห็นได้จากข้อมูลหนี้เสีย NPL ของระบบธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในระดับต่ำไม่ถึงร้อยละ 6.0 ของสินทรัพย์รวม และเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่อยู่ในระดับสูงประมาณร้อยละ 14 ซึ่งมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 8.5 ค่อนข้างมาก
2. รัฐบาลมีแนวทางในการฟื้นฟูและพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ด้วยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระยะสั้นที่เน้นการสร้างกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2551 จำนวน 1.17 แสนล้านบาท มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 4 หมื่นล้านบาท และการใช้สถาบันการเงินของรัฐในการเร่งเพิ่มสินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการจำนวน 3.39 แสนล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4.96 แสนล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 5.4 ของ GDP ในขณะเดียวกัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนของรัฐบาลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว โดยรัฐบาลได้อนุมัติวงเงินลงทุน1.57 ล้านล้านบาท ในช่วงปีงบประมาณ 2553-2555
3. ในด้านการเมือง รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ปัญหาด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีการใช้สิทธิภายใต้กรอบกฎหมายที่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งแนวทางดังกล่าวทำให้สามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาว รัฐบาลได้มีแนวทางที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ต้นเหตุ ด้วยการใช้กระบวนการทางรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาช่วยกันแก้ปัญหาทางการเมืองและปฏิรูปทางการเมืองร่วมกัน
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในหลายประเด็นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สรุปได้ดังนี้
- นักลงทุนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการประเมินเศรษฐกิจและการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ช่วยสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองไทยได้ดียิ่งขึ้น
- ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสอย่างมากในการที่จะเป็นประเทศที่สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินที่เข้มแข็งกว่าหลายๆ ประเทศและเห็นว่าหากแนวทางการปฎิรูปทางการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลประสบความสำเร็จ จะช่วยให้ประเทศไทยน่าลงทุนมากขึ้น
- นักลงทุนได้สนับสนุนแนวทางโครงการลงทุนของภาครัฐค่อนข้างมาก และได้สอบถามถึงความเป็นไปได้ในการหาแหล่งเงินเพื่อใช้ในการลงทุน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนถึงความสามารถในการกู้เงินในประเทศที่มีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินสูงถึงประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกันการที่ภาครัฐมีหนี้ต่างประเทศน้อยมากเพียงร้อยละ 12 ของหนี้สาธารณะ ทำให้การกู้เงินทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของภาครัฐ
- อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องของการนำแผนงานลงทุนที่รัฐบาลอนุมัติไปทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และยืนยันความตั้งใจของรัฐบาลในการกำกับดูแลการลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม
- นักลงทุนหลายท่านได้แสดงความสนใจถึงแนวทางของรัฐบาลในการให้ภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐ (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งเห็นว่านอกจากจะเป็นนโยบายที่ดึงดูดให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยให้การบริหารจัดการและการขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย และนักลงทุนอยากเห็นนโยบายที่มีความชัดเจนของรัฐบาลว่าจะกระตุ้นให้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมีส่วนร่วมมากขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เดินทางต่อไปกรุง Washington D.C. เพื่อการประชุมธนาคารโลก (Spring Meeting) และเพื่อพบปะกับนักลงทุนสหรัฐฯ รวมทั้งการเข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (นาย Timothy Geithner) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดที่จะสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศ นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังมีหมายกำหนดการที่จะปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของวิธีการเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งวิธีการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไทยด้วยระบบประกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. (02) 273-9020 ต่อ 3620
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 52/2552 24 เมษายน 52--