รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 20-24 เมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 27, 2009 10:56 —กระทรวงการคลัง

Economic Indicators: This Week

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มี.ค.52 ได้104.37 พันล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 11.11 พันล้านบาทหรือร้อยละ 9.6 แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.1 ส่งผลให้รายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 เท่ากับ 559.23 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 98.28พันล้านบาท ซึ่งผลการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าเป้าหมายในเดือน มี.ค. 52 มีสาเหตุสำคัญจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 11.64 พันล้านบาท 3.94 พันล้านบาทและ 2.61 พันล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ รายได้สุทธิของ 3 กรมจัดเก็บรายได้ในเดือน มี.ค. 52 เท่ากับ 115.72 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -3.4 ต่อปี โดยภาษีฐานรายได้และภาษีฐานการบริโภค หดตัวที่ร้อยละ -10.1 ต่อปี และร้อยละ -18.8 ต่อปี ตามลำดับ

รายจ่ายรัฐบาลเดือน มี.ค. 52 รัฐบาลเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 195.3พันล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 56.1 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายที่สูงดังกล่าวเป็นการเบิกจ่ายในส่วนของงบรายจ่ายประจำจำนวน 164.3 พันล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.6 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งปม. 52 จำนวน 36.7 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.5 ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจำนวน 1.167 แสนล้านบาท ขณะที่รายจ่ายลงทุนสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 14.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ต่อปี สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 (ต.ค.51-มี.ค.52) รัฐบาลเบิกจ่ายจำนวน 971.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.2 ต่อปี โดยเป็นรายจ่ายในส่วนของงบประมาณประจำปีจำนวน 885.4 พันล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 45.4 ของกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 1.952 ล้านล้านบาท

มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. 52 หดตัวที่ร้อยละ -23.1 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -11.3 ต่อปี โดยเป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่หดตัวถึงร้อยละ -21.4 ต่อปี ในขณะที่ราคาหดเล็กน้อยที่ร้อยละ -2.1 ต่อปี ผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่ชะลอตัวลงมากราคาสินค้าส่งออกสำคัญลดลง และปัจจัยฐานสูง โดยในแง่มิติสินค้า สินค้าหลักมีการหดตัวในทุกหมวดสินค้า มีเพียงการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ยังขยายตัวได้ดี โดยการส่งออกโครงสร้างที่ทำด้วยเหล็ก ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 9 ในเดือน มี.ค.52 มีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 1,715 ต่อปี โดยเป็นการส่งออกไปยังมาดากัสการ์ออสเตรเลีย กาตาร์ ไนจีเรีย และสิงคโปร์ ด้านมิติคู่ค้า การส่งออกไปยังตลาดหลักมีการหดตัวแทบทุกตลาด ยกเว้นการส่งออกไปยังตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกาที่ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 และ 17.6 ต่อปีตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกในไตรมาสแรกของปี 52 หดตัวถึงร้อยละ -20.6 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นมากจากไตรมาส 4 ของปี 51 ที่หดตัวร้อยละ-10.6 ต่อปี

มูลค่านำเข้าสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 52 หดตัวร้อยละ -35.1 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -40.3 ต่อปี ผลจากการนำเข้าที่หดตัวในทุกหมวดสินค้า สืบเนื่องจากการลดนำเข้าวัตถุดิบตามคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ลดลง อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวทั้งในแง่ของการบริโภคและการลงทุน และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง ทำให้มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสแรกของปี 52 หดตัวถึงร้อยละ -37.6 ต่อปี หดตัวลงมากจากไตรมาส 4 ของปี 51 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี อนึ่ง เนื่องจากมูลค่านำเข้าสินค้าหดตัวมากกว่ามูลค่าส่งออกสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือนมี.ค.52 เกินดุลที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 52 คาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ -18.0 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงร้อยละ -23.1 ต่อปีซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภท เช่นชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และเหล็กสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น จีน ได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนสินค้าอุตสาหกรรมบางปะเภทมีแนวโน้มทางด้านราคาที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดแรงจูงใจในการผลิตเพิ่มขึ้น อาทิ ปิโตรเคมี และเทคโนโลยีชีวภาพเป็นต้น อย่างไรก็ดี แนวโน้มภาพรวมของผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงหดตัวเนื่องจากต้องการของตลาดต่างประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ

Foreign Exchange Review

ค่าเงินสกุลคู่ค้าหลักของไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับ ดอลลาร์สหรัฐ ยกเว้นค่าเงินเยนและค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก ในขณะที่ค่าเงินริงกิตมาเลเซีย ดอลลาร์สิงค์โปร์ และหยวนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย

ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินเยนจากปัจจัยภาวะความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึนมาอย่างรวดเร็วหลังจากที่ Bank of America (BOA) ได้ประกาศผลประกอบการว่ามีตัวเลขหนี้สูญ (Credit losses) ที่สูงถึง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะที่ปริมาณสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Asset: NPA) ได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ค่อนข้างมากจึงส่งผลให้ตลาดเกิดความตระหนกและนำเงินออกจากตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคมาลงทุนในสกุลค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและเยนซึ่งตลาดมองว่ามีความปลอดภัยมากที่สุด (Safe Haven) นอกจากนั้น ตัวเลขการขายบ้านมือสอง ในเดือน มี.ค. 52 ที่ลดลงมากกว่าที่ตลาดคาดไว้และคำสั่งซื้อสินค้าคงทนที่ปรับตัวลดลงเป็นครั้งที่ 5 ในรอบครึ่งปีประกอบกับความไม่แน่นอนในอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ ได้ส่งผลต่อความต้องการดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน

ในขณะที่ค่าเงินยูโรเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้รับปัจจัยบวกจากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI Index) ทั้งภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมของยุโรปที่แม้ว่าจะหดตัวอยู่ แต่ก็หดตัวชะลอลงมากที่สุดในรอบ 6 เดือน ประกอบกับตัวเลขความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจของเยอรมัน (Ifo Index) ได้ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งตลาดมองว่าตัวเลขดังกล่าวได้ส่งสัญญาณว่าภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มเริ่มผ่อนคลายลง จึงส่งผลความต้องการของเงินยูโรมีมากขึ้นและแข็งค่าขึ้นมาตามลำดับ อย่างไรก็ตามค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงหลังจากที่มีข่าวว่าบริษัทการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investor และS&Ps อาจจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อของอังกฤษลงจากระดับ AAA หลังจากที่ตัวเลขหนี้ของอังกฤษเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วตามวิกฤติสถาบันการเงินในอังกฤษที่ยังคงเรื้อรัง

ด้านค่าเงินเยนในช่วงสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นมามากเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินสกุลอื่นๆจากปัจจัยความกังวลในภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก(risk aversion) ข้างต้นโดยตลาดมองว่าค่าเงินสกุลเยนเป็นค่าเงินที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด ประกอบกับการที่นักลงทุนนำเงินที่เคยกู้ไว้ในช่วงที่ดอกเบี้ยของญี่ปุ่นต่ำกว่าที่อืนไปชำระคืน (unwind carry trade) จึงส่งผลให้ค่าเงินเยนแข็งค่ามามากเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ

ด้านสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่อ่อนค่าลงจากปัจจัย risk aversion เช่นกันตามที่นักลงทุนได้ถอนเงินจากตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคเพื่อไปลงทุนในเงินสกุลดอลลาร์และเยนหลังจากที่ BOA แถลงผลประกอบการที่ต่ำกว่าตลาดคาด ในขณะที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่ Goldman Sachs ปรับเพิ่มประมาณการของเศรษฐกิจจีนตามแนวโน้มของเศรษฐกิจของจีนที่ปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน

ในขณะที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐโดยอ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 และยังคงอยู่ในช่วงระดับ 35.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลัก 12 สกุลเงิน (ดอลลาร์สหรัฐยูโร เยน หยวน ดอลลาร์ฮ่องกง ดอลลาร์ไต้หวัน วอนเกาหลี ดอลลาร์สิงคโปร์รูเปียห์อินโดนีเซีย ริงกิตมาเลเซีย และเปโซฟิลิปปินส์) ณ วันที่ 24 เม.ย. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงิน ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 1.43 แต่อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้วที่อยู่ที่ร้อยละ 1.72

เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 5.6) ยูโร (ร้อยละ 4.3) วอนเกาหลี (ร้อยละ 3.8) ริงกิตมาเลเซีย (ร้อยละ 2.5) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 1.9) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 1.2) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -2.5) ดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ -2.1) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ -2.1) หยวน (ร้อยละ -2.0) รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -1.9) และเปโซฟิลิปปินส์ (ร้อยละ -0.1)ตามลำดับ

Foreign Exchange and Reserves

ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 17 เม.ย.52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) ลดลงสุทธิ -0.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 119.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการลดลงของ Gross Reserve จำนวน -0.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน -0.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองลดลงส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการตีค่ามูลค่าทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐลดลง (Valuation Loss) จากการที่ค่าเงิน EUอ่อนค่าลงในช่วงสัปดาห์ดังกล่าวถึงร้อยละ —1.12 ประกอบกับคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะเข้าบริหารค่าเงินบาทเพื่อให้มีเสถียรภาพในสภาวะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (10 เม.ย.52) ร้อยละ -0.03 จาก 35.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 35.36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้

Major Trading Partners’ Economies: This Week

GDP ของจีนในไตรมาส 1 ปี 52 อยู่ที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 ต่อปี โดยในด้านอุปทาน ภาคการเกษตรขยายตัวเพียงร้อยละ 3.5 ต่อปี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 และร้อยละ 7.4 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนประกาศเมื่อปลายปี 51 จำนวน 4 ล้านล้านหยวน

GDP ของสิงคโปร์ในไตรมาสแรกของปี 52 หดตัวร้อยละ -11.5 ต่อปีโดยเมื่อปรับผลของฤดูกาลแล้วจะหดตัวร้อยละ - 19.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการหดตัวรายไตรมาสติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 (ซึ่งการหดตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แต่ละภาคส่วนล้วนได้รับผลกระทบในทางลบ ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิต ภาคบริการ และการค้าส่งค้าปลีก ยกเว้นภาคการก่อสร้างที่มีสัญญาณไปในทางบวก เนื่องจากโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคพื้นฐานมีการดำเนินอย่างต่อเนื่อง

GDP เกาหลีใต้ไตรมาสที่ 1 ปี 52 หดตัวร้อยละ -4.3 ต่อปี หดตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ -3.4 ต่อปี ในไตรมาสที่ 4 ปี 51 (ตัวเลขปรับปรุง) อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบอัตราการขยายตัวรายไตรมาส GDP ไตรมาส 1 ปี 52 จะขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 จากไตรมาส 4 ปี 51 ที่หดตัวร้อยละ -5.1(ตัวเลขปรับปรุง) โดยทางด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนถึงเกือบหนึ่งในสามของ GDP มีการหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -13.1 ต่อปีทางด้านอุปสงค์ การลงทุนและการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หดตัวถึงร้อยละ -22.1 และร้อยละ -14.1 ต่อปี ตามลำดับ

ยูโรโซนประกาศปรับตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ปี 51 เป็นหดตัวที่ร้อยละ -1.5 ต่อปี (จากเดิมที่หดตัวร้อยละ -1.3 ต่อปี) หรือร้อยละ -1.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (จากเดิมที่หดตัวร้อยละ -1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) พร้อมทั้งประกาศปรับปรุงตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ปี 51 เป็นหดตัวร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าอีกด้วย

Manufacturing flash PMI ของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือน เม.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 36.7 เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 52 ที่ระดับ 33.6 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา อันเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการเริ่มมองว่าอุปสงค์ต่อสินค้าเริ่มที่จะปรับตัวดีขึ้น

ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเดือน มี.ค. 52 ลดลงเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกันถึง 663,000 ตำแหน่ง เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลง 651,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมลดลงถึงจำนวน 161,000 ตำแหน่ง ในขณะที่ภาคก่อสร้างและภาคธุรกิจมีการจ้างงานลดลง 126,000 และ 133,000 ตำแหน่ง ตามลำดับ ส่งผลให้อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นที่ร้อยละ 8.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2526

ตัวเลขการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน มี.ค 52 .หดตัวร้อยละ -45.6 ต่อปีโดยต่างชาติยังคงมียอดสั่งซื้อสินค้าจากญี่ปุ่นในระดับต่ำ จากภาวะเศรษฐกิจซบเซา อย่างไรก็ดีในเดือนนี้ ญี่ปุ่นเกินดุลการค้าเล็กน้อยที่ 11พันล้านเยน แต่ถ้านับรวมระยะเวลา 12 เดือนจนถึงเดือน มี.ค. พบว่าญี่ปุ่นมีตัวเลขขาดดุลการค้าสูงถึง 7.25 แสนล้านเยน หรือประมาณ 2.6 แสนล้านบาท ถือเป็นปีงบประมาณแรกนับจากปี 2523 ที่ญี่ปุ่นประสบภาวะขาดดุลการค้า

มูลค่าการส่งออกสินค้าและนำเข้าสินค้าของไต้หวันเดือน มี.ค.52 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ -35.7 และร้อยละ -49.5 ต่อปีตามลำดับ จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวที่ร้อยละ -28.6 และร้อยละ -31.6 ต่อปี ตามลำดับ โดยในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังจีน (รวมฮ่องกง) ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ หดตัวมากที่ร้อยละ -37.5 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าไต้หวันเดือนมี.ค. 52 เกินดุลที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

มูลค่าการส่งออกสินค้าของฟิลิปปินส์เดือน ก.พ. 52 หดตัวร้อยละ -39.1 ต่อปี หดตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ -40.6 ต่อปี ผลจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักหดตัวร้อยละ -45.0 ต่อปี โดยในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังสหรัฐฯ และญี่ปุ่นซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ มีการหดตัวร้อยละ -34.9 และ -38.8 ต่อปี ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -31.9 ต่อปี หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ร้อยละ -34.5 ต่อปี และดุลการค้าขาดดุล 552 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ