รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 เมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 27, 2009 11:19 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 เม.ย. 2552

SUMMARY:

1. ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. ปรับตัวดีขึ้น

2. ปัญหาเศรษฐกิจโลกลาม-ฉุดเที่ยวบิน-ผู้โดยสารทอท.ไตรมาสแรกลดลง -17 ต่อปี

3. เศรษฐกิจอังกฤษและสเปนหดตัวรุนแรง ขณะที่เยอรมนีเริ่มส่งสัญญาณบวกเล็กน้อย

HIGHLIGHT:
1. ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. ปรับตัวดีขึ้น
  • กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ รายงานยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทน เช่นสินค้าอุตสาหกรรมประเภทคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ในเดือน มี.ค. หดตัวลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.8 ต่อเดือน เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 ต่อเดือน ในขณะที่ ยอดรายจ่ายเพื่อการลงทุนในเดือน มี.ค. โดยเฉพาะสินค้าทุนประเภท nondefense capital goods นอกเหนือจากเครื่องบิน ขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อเดือน
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการที่ตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนในสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นนั้น สะท้อนความต้องการซื้อสินค้าทั้งภาคเอกชนที่ภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่แสดงว่าเศรษฐกิจในสหรัฐอาจจะได้ผ่านจุดตกต่ำที่สุดมากแล้ว สอดคล้องกับตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมในเดือน มี.ค. ของสหรัฐ (ISM PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 36.3 จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 35.8
2. ปัญหาเศรษฐกิจโลกลาม-ฉุดเที่ยวบิน-ผู้โดยสารทอท.ไตรมาสแรกลดลง -17 ต่อปี
  • บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) เผยถึงปริมาณการจราจรทางอากาศช่วงไตรมาสแรกปี 52 ว่าเที่ยวบินที่ทำการบินทั้ง 6 ท่าอากาศยานมีจำนวน 89,481 เที่ยวบิน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 16.01 ต่อปี ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารมีจำนวน 13.7 ล้านคน หดตัวลงร้อยละ 17.0 ต่อปี โดยได้กล่าวถึงเหตุการณ์ทางการเมืองช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาว่าไม่ทำให้ผู้โดยสารลดลง โดยมีเที่ยวบินช่วงสงกรานต์ทั้งสิ้น 7,722 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.8 ต่อปี
  • สศค.วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองล่าสุดไตรมาสแรกปี 52 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 3.7 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -14.7 ต่อปี ทั้งนี้ การหดตัวต่อเนื่องส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยภายนอกที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกและปัจจัยการเมืองภายในประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลง คาดว่าทั้งปี 52 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 11.3 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -22.6 ต่อปี (ในกรณีฐาน)
3. เศรษฐกิจอังกฤษและสเปนหดตัวรุนแรง ขณะที่เยอรมนีเริ่มส่งสัญญาณบวกเล็กน้อย
  • ภาวะเศรษฐกิจในอังกฤษและสเปนหดตัวรุนแรงขึ้น โดย GDP อังกฤษในไตรมาส 1 ปี 52 หดตัวลงร้อยละ -4.1 ต่อปี รุนแรงสุดในรอบ 30 ปี โดยรัฐบาลอังกฤษคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ -3.5 ต่อปีในปี 52 ด้านอัตราการว่างงานสเปนปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 17.4 ในเดือน มี.ค. 52 จากร้อยละ 13.9 ในเดือน ธ.ค. 51โดยมีจำนวนคนว่างงานถึงประมาณ 4 ล้านคน
  • อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ด้านความเชื่อมั่นในเยอรมนีส่งสัญญาณดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของเยอรมนี (PMI Index) และผู้บริโภค (Ifo) ในเดือน เม.ย. อยู่ที่ 35.0 และ83.6 ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่าสาเหตุที่เศรษฐกิจอังกฤษและสเปนตกต่ำ ในขณะที่เยอรมนีดีขึ้นนั้นเป็นเพราะทั้งอังกฤษและสเปนเผชิญกับภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อภาคประชาชน ขณะที่อังกฤษยังพึ่งพิงภาคการเงินในระดับสูง โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ของสเปนและภาคการเงินของอังกฤษมีสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 20 ของ GDP ของแต่ละประเทศ ดังนั้นเมื่อวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นจึงกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและการจ้างงานของทั้งประเทศ ในขณะที่เยอรมนีพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่งเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมโลกเริ่มพลิกฟื้นหลังจากสต๊อกสินค้าคงค้างปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ขณะที่ทางการยุโรปมิได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรุนแรง น่าจะทำให้เศรษฐกิจยุโรปหดตัวรุนแรงที่ประมาณร้อยละ -3.0 ในปี 52

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ