สรุปผลการจัดงานกระทรวงการคลังพบนักลงทุนต่างชาติ และการประชุมร่วมกับธนาคารโลก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 27, 2009 11:51 —กระทรวงการคลัง

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “ในช่วงที่ประเทศไทยเราประสบปัญหาเป็นช่วงที่เรายิ่งมีความจำเป็นต้องเดินหน้าชี้แจงและให้ข้อมูลต่อชาวโลก การหลีกเลี่ยงการยอบรับปัญหาจะยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นในประเทศเราลดลง และจากการเดินทางเพื่อไปพบปะกับนักลงทุนและผู้แทนจากภาคธุรกิจของสหรัฐฯ กว่า 25 บริษัท จำนวนประมาณ 150 คน ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายกษิต ภิรมย์) ก่อนเข้าร่วมประชุมธนาคารโลก Spring Meeting ในวันที่ 24 เมษายน 2552 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมีความพร้อมที่จะลงทุนในประเทศไทย และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลให้เร่งสร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองและการรักษากรอบกฎหมาย (Rule of Law) นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังยังได้ใช้โอกาสที่เดินทางมาเข้าร่วมประชุมธนาคารโลก เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดกับรองประธานธนาคารโลก (นาง Kathy Sierra) และผู้เชี่ยวชาญธนาคารโลก ในเรื่องของวิธีการเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และวิธีการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวไทยด้วยระบบประกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ รวมทั้ง การใช้เงินกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีที่สะอาด (Clean Technology Fund) ของธนาคารโลก เพื่อนำมาสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย” โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมงาน Thai Foreign and Finance Ministers Roundtable ซึ่งจัดโดย U.S.-ASEAN Business Council และ Asia Society in Washington เพื่อชี้แจงต่อนักลงทุนสหรัฐให้ได้ทราบถึงภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองล่าสุดของประเทศไทย รวมทั้งสร้างความเข้าใจในแนวนโยบายของรัฐบาลในการรองรับความเสี่ยงที่สำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง อันเกิดจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกที่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและภาคการผลิตของประเทศไทย ในขณะเดียวกัน ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศในช่วงที่ผ่านมาได้ทำให้เศรษฐกิจไทยน่าจะหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมจากการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนที่ลดลง แม้ว่าภาคการผลิตจะเผชิญความเสี่ยงดังกล่าว แต่ภาคการเงินของไทยยังคงมีความแข็งแกร่งมากจากการปฏิรูปภาคการเงินในช่วงหลังวิกฤติในปี 2540 นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้อธิบายแนวทางที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ด้วยการดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ และการให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยรัฐบาลได้อนุมัติกรอบวงเงินลงทุนจำนวน 1.57 ล้านล้านบาท ในช่วงปีงบประมาณ 2553-2555 ซึ่งรัฐบาลจะเน้นการดำเนินโครงการต่างๆ ให้สามารถเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ และให้ความสำคัญกับการเพิ่มบทบาทความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ การที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล ทำให้รัฐบาลมีช่องทางใช้นโยบายการคลังแบบผ่อนคลายได้โดยไม่เป็นปัญหากับฐานะการคลังของประเทศ

หลังจากการชี้แจงข้อมูลดังกล่าว นักลงทุนสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีความเห็นคล้ายกันว่า เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยพื้นฐานทางเสถียรภาพที่เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้สามารถฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ แต่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขความสำเร็จของการปฏิรูปทางการเมืองและการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จตามที่วางแผนไว้ต่อไป

2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ผู้แทนออกเสียงในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (World Bank/IMF South East Asia Voting Group) เพื่อเตรียมท่าทีสำหรับการประชุมธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Spring Meeting) ในวันที่ 26 เมษายน 2552 โดยได้รับการชี้แจงจากผู้แทนดังกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -1.3 ต่อปีในปี 2552 และคาดการณ์ว่าจะสามารถเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในปี 2553 โดยขยายตัวได้ที่ร้อยละ 1.9 ต่อปี ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอแนะให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ปรับปรุงแนวทางในการกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยกู้ให้ประเทศกำลังพัฒนามีความยืดหยุ่นและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดตราบาป (Stigma) ซึ่งได้เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศในเอเชียในช่วงวิกฤติการเงินในช่วงปี 2540-41 นอกจากนั้น ยังเน้นให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกเข้าใจถึงบทบาทของความร่วมมือทางการเงินในอาเซียน+3 ที่จัดตั้งกองทุนความร่วมมือเชียงใหม่ในระดับพหุพาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralization) ซึ่งจะสามารถร่วมมือกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกในการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้แก่ภูมิภาคเอเชีย 3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประชุมหารือร่วมกับรองประธานธนาคารโลก (นาง Kathy Sierra) และผู้เชี่ยวชาญธนาคารโลก ในเรื่องของวิธีการเสริมสร้างการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPPs) เพื่อนำมาใช้สนับสนุนแนวทางการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 1.57 ล้านล้านบาทของรัฐบาล และวิธีการพัฒนาระบบประกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ (Catastrophe Insurance) เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านรายได้และลดภาระความเสี่ยงให้แก่เกษตรกรไทย รวมทั้ง การใช้เงินกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีที่สะอาด (Clean Technology Fund) ของธนาคารโลก มาสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและเพื่อพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย ทั้งนี้ ธนาคารโลกยินดีที่จะจัดส่งคณะผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวทั้งหมดมาร่วมมือกับรัฐบาลไทย ภายหลังจากการประชุมธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในครั้งนี้

สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. (02) 273-9020 ต่อ 3620

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 54/2552 27 เมษายน 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ