รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 เมษายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 30, 2009 10:46 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 เม.ย. 2552

SUMMARY:

1. ดัชนีอุตฯมี.ค.ฟื้น ต่างชาติเพิ่มซื้อ ลุ้นไตรมาส 2 คึก

2. สภาพัฒน์ประเมินเหตุการณ์ความไม่สงบทำให้นักท่องเที่ยวหาย 8 แสนคน

3. GDP สหรัฐฯไตรมาสแรกปี 52 หดตัวลงร้อยละ -6.1 qoq annualized

HIGHLIGHT:
1. ดัชนีอุตฯมี.ค.ฟื้น ต่างชาติเพิ่มซื้อ ลุ้นไตรมาส 2 คึก
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. 2552 เริ่มมีทิศทางดีขึ้นเนื่องจากอัตราการติดลบลดลงเหลืออยู่แค่ร้อยละ -17.7 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ติดลบที่ร้อยละ -23.1 ต่อปี ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนมี.ค. อยู่ที่ร้อยละ 54.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ.ที่อยู่ระดับร้อยละ 50 โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม โดยเฉพาะจากประเทศจีน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การฟื้นตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมี.ค.สอดคล้องกับสัญญาณการส่งออกไปยังจีนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยการส่งออกไปยังจีนหดตัวร้อยละ -14.0 ต่อปี ดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -28.9 ต่อปี สินค้าส่งออกหลักที่ปรับตัวดีขึ้นคือชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ หดตัวเหลือเพียงร้อยละ -9.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวถึงร้อยละ -43.8 ต่อปี ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น ได้ส่งผลต่อประเทศไทยอย่างชัดเจนในเรื่องอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก อีกทั้ง ทำให้การว่างงานในเดือนก.พ.52 ลดลงเหลือร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงาน จากที่ร้อยละ 2.4 ในเดือนก่อน
2. สภาพัฒน์ประเมินเหตุการณ์ความไม่สงบทำให้นักท่องเที่ยวหาย 8 แสนคน
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในระหว่างวันที่ 8 — 14 เม.ย. 52 สร้างความเสียหายเป็นตัวเงินมูลค่ากว่า 330 ล้านบาท ขณะที่เหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อเนื่องต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยจะทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในปี 2552 ลดลงจากปีก่อนประมาณ 8.77 แสนคน ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนประมาณ 1.02 แสนล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกบริการที่แท้จริงอย่างมากซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 13.5 ของ GDP (โดยครึ่งหนึ่งจะมาจากการท่องเที่ยว) ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติล่าสุดในไตรมาสแรกปี 52 พบว่ามีนักท่องเที่ยวมายังประเทศไทยทั้งสิ้น 3.7 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวลง -14.7 ต่อปี ซึ่งถือเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 51 อันเป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองไทยทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยลดลง
3. GDP สหรัฐฯไตรมาสแรกปี 52 หดตัวลงร้อยละ -6.1 qoq annualized
  • สำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในไตรมาสแรกปี52 หดตัวร้อยละ -6.1 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (qoq annualized) หดตัวชะลอลงจากไตรมาส 4 ปี 51 ที่หดตัวถึงร้อยละ -6.3 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ถึงแม้จะเป็นการหดตัวที่รุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งในหมวดนี้ การบริโภคสินค้าคงทนขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 9.4 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวอย่างรุนแรงที่ร้อยละ -51.8 ต่อปี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ มีสัญญาณบ่งชี้ว่าน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยเครื่องชื้ทางเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นมากสุดในรอบ กว่า 3 ปีมาแตะระดับ 39.2 ในเดือนเม.ย. หรือดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่ถึงแม้จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่มุ่งเน้นการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน เริ่มมีการนำมาปฏิบัติใช้จริง เป็นสัญญาณว่าการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีโอกาสฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯอาจต้องพิจารณามาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนควบคู่กันไป เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน ประเด็นที่ต้องจับตาคือ ไข้หวัดเม็กซิโกสายพันธุ์ใหม่จะบั่นทอนการบริโภคและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ