แผนปฏิบัติการ : ไทยเข้มแข็ง 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 6, 2009 15:41 —กระทรวงการคลัง

สถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกรณ์ จาติกวณิช) ได้เปิดเผยว่า “วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงทำให้การผลิต การส่งออก และการใช้จ่ายของภาคเอกชนหดตัวมาก ซึ่งเป็นสถานการณ์เช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเริ่มที่จะมีสัญญาณของการมีเสถียรภาพและการฟื้นตัว ไม่อ่อนแอแต่ยังไม่แข็งแรง ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลมีมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในอนาคตมีความไม่แน่นอนสูง เพราะขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ดังนั้น รัฐบาลในฐานะที่เป็นเครื่องยนต์เดียวที่จะขับเคลื่อนในขณะนี้ จึงจัดทำ “แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555” ซึ่งจะเป็นโครงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงานอย่างต่อเนื่องผ่านการลงทุนของรัฐควบคู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

โครงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2

โครงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ที่ได้รับอนุมัติมีมูลค่าทั้งหมด 1,431,330 ล้านบาท เป็นการลงทุนระหว่างปี 2552-2555 คาดว่าจะช่วยสร้างงานได้ประมาณ 1.6-2 ล้านคน และช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนในระยะยาว เช่น

โครงการขนส่ง/Logistic จำนวน 571,523 ล้านบาท จะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง (Logistic Cost) จากปัจจุบันที่สูงถึงร้อยละ 19 ของ GDP

โครงการด้านทรัพยากรน้ำและการเกษตร จำนวน 238,515 ล้านบาท จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการเกษตรให้แก่เกษตรกร

โครงการด้านการศึกษา จำนวน 137,975 ล้านบาท จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทย

โครงการสาธารณสุข จำนวน 99,399 ล้านบาท จะช่วยปฏิรูปคุณภาพระบบสาธารณสุขที่มีมาตรฐานสูงสำหรับคนไทย

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยว จำนวน 18,537 ล้านบาท จะช่วยเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวโดยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว

ผลต่อระบบเศรษฐกิจ

โครงการที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจ้างงานได้ในทันที ได้แก่ โครงการลงทุนขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีการลงทุนกระจายไปทั่วประเทศ และมีการเบิกจ่ายอย่างรวดเร็ว เช่น โครงการลงทุนด้านแหล่งน้ำและระบบชลประทานขนาดเล็ก โครงการก่อสร้างถนนในชนบท โครงการก่อสร้างโรงเรียน โครงการก่อสร้างสถานีอนามัยขนาดเล็กในชนบท

โครงการที่มีผลกระทบในระยะปานกลาง ได้แก่ โครงการลงทุนขนาดกลางและใหญ่ ในด้านระบบ พลังงาน การสื่อสาร โครงการสาขาขนส่งมวลชนและระบบราง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง การใช้พลังงานของประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะปานกลางให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

โครงการที่มีผลกระทบในระยะยาว ได้แก่ โครงการลงทุนในด้านการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) ด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว โดยจะช่วยเพิ่มผลิตภาพของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมในระยะยาว

ความพร้อมของการดำเนินงานและการลงทุน

รัฐบาลมีความพร้อมในการดำเนินโครงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ทันที เพราะได้นำเสนอพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. .... และพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. . ต่อคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว โดย พ.ร.ก. ดำเนินการทันที และ พ.ร.บ. เสนอเข้าสภา ในส่วนโครงการที่ได้คัดเลือกมาก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที สำหรับการจัดหาเงินเพื่อการดำเนินโครงการก็จะเป็นการระดมทุนจากตลาดในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดยังมีอีกมากและเพียงพอ ประกอบกับปัจจุบันรัฐบาลยังมีสถานะทางการคลังที่เข้มแข็ง ระดับหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก จึงยังสามารถกู้เงินมาใช้จ่ายในโครงการลงทุนได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการคลัง และสามารถบริหารจัดการหนี้สาธารณะอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

แม้ว่าการหาเงินทุนสนับสนุนโครงการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น คาดว่าจะส่งผลให้หนี้สาธารณะของไทยปรับสูงขึ้นจากระดับต่ำที่ประมาณร้อยละ 40 ของ GDP ในปัจจุบัน ไปอยู่ที่สูงสุดประมาณร้อยละ 60 ของ GDP ในปี 2556 แต่ผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากโครงการลงทุนที่สร้างโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพการผลิตของประเทศจะส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่ปี 2557 จนคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 47 ของ GDP ในปี 2561 ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถในการรักษาความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ (Debt Sustainability)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีความมั่นใจว่า การดำเนินการตามแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ในระยะยาว ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตระหนักว่า ได้เดินมาถูกทางแล้ว ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ตรงเป้า โปร่งใส และรวดเร็ว ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที โดยเม็ดเงินที่นำมาใช้จะเป็นไปอย่างรอบคอบ ตรวจสอบได้ ไม่สร้างภาระทางการคลังในระยะยาว และมีประสิทธิภาพเกิดขึ้นจริง

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

โทร: 02 265 8050

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 59/2552 6 พฤษภาคม 52--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ