Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 พ.ค. 2552
SUMMARY:
1. ครม. ไฟเขียว 1.43 ล้านล้าน แผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุด 2 พ.ร.ก. กู้ฉลุย
2. ครม.ไฟเขียวจำนำข้าวเปลือกนาปรังเพิ่ม1.2 ล้านตัน
3. ผลเบื้องต้นของStress testของสหรัฐฯ ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งต้องเพิ่มทุนด่วน
HIGHLIGHT:
1. ครม. ไฟเขียว 1.43 ล้านล้าน แผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุด 2 พ.ร.ก. กู้ฉลุย
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เป็นโคงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน ผ่านโครงการลงทุนของรัฐ ควบคู่การสร้างขีดความสามารถการแข่งขันระยะยาว ซึ่งในเบื้องต้นมีวงเงินที่ไดรับอนุมัติ 1.43 ล้านล้านบาท จากทั้งหมดที่รัฐบาลเตรียมการไว้ 1.56 ล้านล้านบาท โดยโครงการลงทุนทีได้รับอนุมัติมีระยะเวลาลงทุนช่วงปี 2552 — 2555 ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 1.6 — 2.0 ล้านคน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 52 ที่คาดว่าจะหดตัวลงมากนั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.1 ต่อปี และคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นอีกประมาณร้อยละ 1.5 ต่อปี ในปี 53 นอกจากนี้ การลงทุนผ่านโครงการลงทุนของรัฐที่เพิ่มขึ้นจะมีส่วนช่วยเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศและจะช่วยจูงใจให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย (Crowding—in Effect)
2. ครม. ไฟเขียวจำนำข้าวเปลือกนาปรังเพิ่ม1.2 ล้านตัน
- อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้เพิ่มปริมาณรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2552 อีก 1.5 ล้านตัน จากเดิมเปิดรับจำนำ 2.5 ล้านตัน รวมเป็นการรับจำนำทั้งสิ้น 4 ล้านตัน ตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เสนอ และคาดว่าโครงการรับจำนำข้าเปลือกนาปรังครั้งนี้จะใช้เงินหมุนเวียน 17,000 ล้านบาท ซึ่งการเพิ่มรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง เนื่องจากพบว่ามีเกษตรกรนำข้าวมาจำนำแล้ว 2.1-2.2 ล้านตัน ใกล้เต็มโควต้ารับจำนำเดิมแล้ว ขณะที่พบว่ายังมีปริมาณข้าวเปลือกของเกษตรกรอีก 4.4-4.5 ล้านตัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่รัฐบาลรับจำนำข้าวเพิ่มขึ้นนั้น จะช่วยพยุงราคาข้าวให้มีเสถียรภาพมากขึ้นไม่ปรับตัวลดลงอย่างฮวบฮาบ (ในเดือน เม.ย. 52 ราคาข้าวนาปรังความชื้น 15 % ที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่ตันละ 9900 บาท หดตัวลดลงจากปีก่อนที่ร้อยละ -23.0 ต่อปี) นอกจากนี้ยังจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยให้สนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวลงในช่วงไตรมาสแรกของปี 52 ให้ปรับตัวดีขึ้นได้
3. ผลเบื้องต้นของStress testของสหรัฐฯ ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งต้องเพิ่มทุนด่วน
- ข้อมูลเบื้องต้นของโครงการตรวจสอบสมรรถภาพของธนาคารโดยรัฐบาลสหรัฐ หรือ โครงการ Stress Test ได้เปิดเผยว่า Bank of America (BOA), Citigroup, Wells Fargo และGMAC LCC เป็นธนาคารที่คาดว่าจะต้องมีการเพิ่มทุนหลังจากการผ่านการมดสอบสมรรถภาพแล้ว โดย Bank of America (BOA) อาจต้องมีการเพิ่มทุนถึง 34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วน Citigroup ต้องเพิ่มทุนประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากผลประกอบการที่ขาดทุนในช่วงสองปีที่ผ่านมา ขณะที่ Wells Fargo และGMAC LCC จะต้องเพิ่มทุน 15 และ 11.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ
- สศค. วิเคราะห์ว่า Bank of America (BOA) อาจจะประสบปัญหาดังกล่าวได้เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา BOA มีความเสี่ยงล้มละลายจากการที่เข้าซื้อหุ้นของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาอาทิเช่น Merrill Lynch และถือครองสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง (เช่น Collateral Debt Obligations: CDO) เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผลประกอบการลดลงอย่างต่อเนื่องและประสบปัญหาขาดทุนในไตรมาสที่ 1 ของปี 52 ประกอบกับมีปริมาณสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing assets : NPA) เพิ่มขึ้นอีกถึงกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การที่ทางการสหรัฐฯเร่งเข้าแก้ไขปัญหาระบบการเงินโดยการทำ Stress test แม้ว่าอาจจะส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นของตลาดในระยะสั้น แต่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระบบสถาบันการเงินและจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินและระบบการเงินของสหรัฐฯในระยะยาว
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th