Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 พ.ค. 2552
SUMMARY:
1. แรงงานยังไม่พ้นวิกฤติ ลูกจ้าง 1.8 แสนคน ส่อถูกลอยแพ
2. ท่องเที่ยวพัทยาซบเซาอัตราเข้าพักต่ำกว่าร้อยละ 40
3. OECD ชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศชั้นนำของโลกเริ่มผ่อนคลายลงแล้ว
HIGHLIGHT:
1. แรงงานยังไม่พ้นวิกฤติ ลูกจ้าง 1.8 แสนคน ส่อถูกลอยแพ
- ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยข้อมูลเฝ้าระวังสถานการณ์การเลิกจ้างของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พบว่า การเลิกจ้างระหว่างวันที่ 1 ม.ค. ถึง 1 พ.ค. 2552 มีสถานประกอบการเลิกจ้างคนงานแล้วจำนวน 305 แห่ง ถูกเลิกจ้าง 29,327 คน โดยการปิดกิจการและเลิกจ้างพนักงานมากที่สุด คือ การผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีสาเหตุจากภาวะการขาดทุน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน การสั่งซื้อลดลง การย้ายฐานการผลิตและมีแนวโน้มว่าสถานประกอบการมีการปิดโรงงานอีกกว่า 422 แห่งซึ่งมีลูกจ้าง 180,058 คน เนื่องจากมีสัญญาณว่าอาจมีการเลิกจ้าง เช่น หยุดกิจการชั่วคราว ลดการผลิต และภาวะการขาดทุนเป็นต้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากการเลิกจ้างของแรงงานไทยที่ลดลงซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของ สศอ. พบว่า 2 เดือนแรกของ ปี 2552 การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์มี การหดตัวถึงร้อยละ -40.65 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีสาเหตุมาจากการชะลอของเศรษฐกิจโลกและยอดคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าที่ลดลง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลดลง จากกรณีฐานร้อยละ 1.0 ต่อปี จะส่งผลให้การจ้างงานลดลง 3.5 แสนคน
2. ท่องเที่ยวพัทยาซบเซาอัตราเข้าพักต่ำกว่าร้อยละ 40
- สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยว่า การท่องเที่ยวเมืองพัทยาได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปิดล้อมของม็อบเสื้อแดงเมื่อเดือนเม.ย.52 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ลดลง โดยขณะนี้เมืองพัทยามีอัตราการเข้าพักต่ำกว่าร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 60 และสทท. จะมีการจัดประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์ดังกล่าวในวันที่ 14-15 พ.ค.52 โดยเบื้องต้นคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะลดลงร้อยละ 22 ต่อปี ส่งผลให้รายได้ลดลง 1.9 แสนล้านบาท และอาจติดลบเล็กน้อย จากการที่มีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกที่กระเตื้องขึ้น ขณะเดียวกันยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009
- สศค.วิเคราะห์ว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2552 ได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ทั้งจากภายในเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัจจัยภายนอกจากเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ รวมถึงการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยจะทำให้นักท่องเที่ยวจากต่างชาติในปี 2552 ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยลดลงจากปีก่อนประมาณ 3.3 ล้านคน ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนประมาณ -110,985 ล้านบาท
3. OECD ชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศชั้นนำของโลกเริ่มผ่อนคลายลงแล้ว
- องค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศชั้นนำของโลกเริ่มผ่อนคลายลงแล้ว โดยภาวะเศรษฐกิจชะงักงันเริ่มผ่อนคลายในฝรั่งเศส อิตาลี และอังกฤษ แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงมีความน่าเป็นห่วงอยู่บ้าง โดยกระแสความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจโลกในระยะนี้ เป็นปัจจัยบวกหนุนให้ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกโดยเฉพาะในเอเชียปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งยังมีแรงหนุนมาจากาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นอย่างมาก
- สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศมีแนวโน้มในทางบวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขดัชนี้ชี้นำเศรษฐกิจ (Composite Leading Indicator: CLI) ของประเทศกลุ่มยูโรโซนของเดือนมี.ค.ที่ปรับตัวสูงขึ้น 0.2 จุด อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจบางตัวดีกว่าที่ตลาดคาดมาก เช่น ตัวเลขตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯเดือนเม.ย.52 ลดลง 539,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการปรับลดลงที่น้อยที่สุดในรอบ 6 เดือน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดัชนี CLI สหรัฐฯยังคงปรับลดลง -0.6 จุด ในขณะที่เศรษฐกิจจีนอาจเป็นความหวังของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ เนื่องจากมีสัญญาณการฟื้นตัวในหลายหมวด ซึ่งเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด อาจช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งนี้ด้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th