รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 14, 2009 10:53 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 พ.ค. 2552

SUMMARY:

1. รองนายกฯแนะ ธปท. คลายกฎ หนุนแบงก์ให้กู้

2. กลุ่มส่งออกอาหารชี้ตลาดฟื้น คาดสิ้นปีออเดอร์ทะลุ4หมื่นล้าน

3. ผลผลิตเกษตรเดือน เม.ย.52 หดตัวที่ร้อยละ -1.5 ต่อปี

HIGHLIGHT:
1. รองนายกฯแนะ ธปท. คลายกฎ หนุนแบงก์ให้กู้
  • รองนายกรัฐมนตรีเสนอแนะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนปรนหลักเกณพ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ เพื่อผลักดันให้มีการปล่อยกู้ช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้น แม้จะยอมรับว่าเป็นเรื่องลำบากใจหากไม่มีมาตรการที่เข้มงวด เพราะอาจก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loans: NPLs) ในระบบเพิ่มมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงทำให้สถาบันการเงินมีการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ได้ส่งผลให้ในไตรมาส 1 ปี 52 อัตราการขยายตัวของสินเชื่อชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ต่อปี จากไตรมาส 4 ปี 51 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.3 ต่อปี ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ รัฐจำเป็นต้องส่งสัญญานให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีก เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ MLR ของธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับที่ร้อยละ 6.25 ซึ่งถือว่าสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย RP-1 วัน ที่อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.25 อยู่มาก
2. กลุ่มส่งออกอาหารชี้ตลาดฟื้น คาดสิ้นปีออเดอร์ทะลุ 4 หมื่นล้าน
  • กลุ่มอาหารส่งออกยิ้มรับสัญญาณตลาดฟื้นตัว ผู้ส่งออกแช่แข็งไทยชี้สัญญาณฟื้นชัดไตรมาส3-4 คาดออเดอร์ทะลุ 4 หมื่นล้านบาท เผยไม่กังวลเงินบาทแข็งตัวช่วงสั้น ชี้ไทยเตรียมรับข่าวดี ฝรั่งย้ายฐานผลิตตีจากจีนเข้าไทย ย้ำทั่วโลกเชื่อมั่นอาหารส่งออกจากไทย นอกจากนี้ยังพบว่า มีสัญญาณดีที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมให้ขยายตัว จากปัจจัยบวก คือ สต็อกเก่าของลูกค้าลดลง จะเริ่มสั่งซื้อสินค้าเพิ่ม รองรับเทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี โดยสัญญาณการสั่งซื้อมีให้เห็นตั้งแต่เดือนพ.ค.นี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น สาเหตุจากอาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อมนุษย์ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีก็ตาม โดยสถานการณ์การส่งออกในเดือนมี.ค. 52 พบว่า มูลค่าการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ -28.2 ต่อปี ขณะที่มูลค่าการส่งออกกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวร้อยละ -2.9 ต่อปี ซึ่งในอนาคตจะมีการย้ายฐานการผลิตจากจีนเข้ามา จะทำให้สินค้าอาหารมีบทบาทต่อการส่งออกจากไทยมากยิ่งขึ้น
3. ผลผลิตเกษตรเดือน เม.ย.52 หดตัวที่ร้อยละ -1.5 ต่อปี
  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานสถานการณ์การเกษตรเดือนเม.ย.52 พบว่า ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเม.ย.52 หดตัวลงที่ร้อยละ -1.5 ต่อปี จากการหดตัวของพืชสำคัญ ได้แก่ ข้าวนนาปรัง และอ้อย ส่วนยางพารา และมันสำปะหลัง ยังขยายตัวได้ดี ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย.52 หดตัวลงมากขึ้นที่ร้อยละ -17.2 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.0 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานสูงเมื่อปีที่แล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุหนึ่งที่ผลผลิตเกษตรหดตัวลงเนื่องจาก ผลผลิตข้าวนาปีลดลงมาก เพราะราคาที่สูงมากเป็นประวัติการณ์จูงใจให้มีการเร่งเก็บเกี่ยว การที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวลงพร้อมกันนั้น จะทำให้รายได้เกษตรกรหดตัวลงตามไปด้วย ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลง และจะกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนได้ ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรในเดือนเม.ย. 52 หดตัวลงที่ร้อยละ -18.7 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ