รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 15, 2009 12:04 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 พ.ค. 2552

SUMMARY:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.52 ปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ระดับ 65.1

2. อีซูซุเผยยอดจำหน่ายรถช่วง ม.ค.-เม.ย.52 มียอดลดลง 31% รวม 1.47 แสนคัน

3. ยอดค้าปลีกสหรัฐฯเม.ย.52 หดตัวต่อเนื่อง สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นยังคงอ่อนแอ

HIGHLIGHT:
1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.52 ปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ระดับ 65.1
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.52 ปรับตัวลดลงต่ำสุดที่ระดับ 65.1 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 66.0 และเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 88 เดือน นับจากม.ค. 2545 เป็นผลมาจากความกังวลต่อเสถียรภาพการเมือง ประกอบกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกที่หดตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 7 ปี นั้น สาเหตุหลักมาจากการจลาจลในพัทยาและกรุงเทพในช่วงสงกรานต์ ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มหดตัวลงมากขึ้น จากปัญหาภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจในอนาคต คาดว่าในเดือนต่อไปดัชนีความเชื่อมั่นจะขึ้นอยู่กับ 1) GDP ใน Q1/52 ที่จะ สศช. จะประกาศติดลบต่อเนื่อง 2) ราคาน้ำมันที่เริ่มสูงขึ้น 3) สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่วนปัจจัยบวกคือ ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นบ้าง
2. อีซูซุเผยยอดจำหน่ายรถช่วง ม.ค.-เม.ย.52 มียอดลดลง 31% รวม 1.47 แสนคัน
  • บจ.ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ รายงานยอดจำหน่ายรถยนต์ช่วง ม.ค.-เม.ย.52 มียอดรวม 1.47 แสนคัน ลดลงร้อยละ -31 ต่อปี โดยตลาดที่หดตัวสูงสุด คือ รถ SUV ร้อยละ -49 ชณะที่รถยนต์นั่งหดตัวน้อยสุดที่ร้อยละ -12 โดยค่ายโตโยต้ามียอดขายสูงสุด 6.02 หมื่นคัน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 40, อีซูซุ 3.2 คัน ฮอนด้า 2.5 หมื่นคัน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 21 และ 16 ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยบวกจากการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวโดยในเดือนเม.ย.มียอดจำหน่ายเพิ่มร้อยละ 4.2 ต่อปี (ขณะที่เดือนก่อนหน้ามียอดจำหน่ายหดตัวร้อยละ -23.4 ต่อปี) โดยได้อานิสงค์ส่วนหนึ่งจากการจัดงานมอเตอร์โชว์ตรงกับช่วงที่ราคาน้ำมันถูก (ช่วงเดียวกันปีก่อนมีงานมอเตอร์โชว์เช่นกันแต่น้ำมันแพง) อย่างไรก็ดี ในระยะยาวแล้ว อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยง เพราะ 1) กำลังการผลิตขึ้นอยู่กับบริษัทแม่ที่ประสบปัญหาทางการเงิน และ 2) การชะลอการตัดสินใจซื้อ
3. ยอดค้าปลีกสหรัฐฯเม.ย.52 หดตัวต่อเนื่อง สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นยังคงอ่อนแอ
  • สำนักสำรวจประชากรสหรัฐฯ (US Census Bureau) ประกาศยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ เดือนเม.ย.52 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.4 จากเดือนก่อนหน้า (โดยถ้าไม่รวมสินค้ายานยนต์แล้ว จะหดตัวที่ร้อยละ -0.5 จากเดือนก่อนหน้า) เปรียบเทียบกับเดือนมี.ค.52 (ตัวเลขปรับปรุง) ที่หดตัวร้อยละ -1.3 จากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -2.3 จากเดือนก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงมากในช่วงนั้น ในขณะที่ยอดขายสินค้ายานยนต์ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการบริโภคภาคเอกชนของสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 70 ของ GDP สหรัฐฯในปี 2551 ยังคงมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ค่อนข้างอ่อนแอ โดยสะท้อนจากตัวเลขยอดค้าปลีกที่หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่กลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. ซึ่งมีเทศกาลการมอบของขวัญให้แก่กันหลายเทศกาล โดยสาเหตุน่าจะมาจากภาคการจ้างงานที่ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในรายได้ในอนาคตและภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งจะสะท้อนในการใช้จ่ายที่ลดลง อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆของสหรัฐฯเริ่มบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะผ่านจุดที่ต่ำสุดมาแล้ว อนึ่ง ยอดขายสินค้ายานยนต์ที่ขยายตัวเล็กน้อย อาจเป็นผลของความพยายามกระตุ้นยอดขายยานยนต์ในสหรัฐฯ ที่แต่ละบริษัทกำลังประสบปัญหาขาดทุนสูงมากและส่อล้มละลาย

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ