Economic Indicators: This Week
รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) เดือน เม.ย. 52 เท่ากับ 81.7 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -34.8 ต่อปี และต่ำกว่าประมาณการ 34.4 พันล้านบาทหรือร้อยละ 29.6 ส่งผลให้รายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 52 เท่ากับ 644.6 พันล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 128.9 พันล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าเป้าหมายในเดือน เม.ย.52 มีสาเหตุสำคัญจาก (1) รายได้นำส่งรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าเป้า 14.0 พันล้านบาท จากการนำส่งเงินปันผลของ ปตท.ที่ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ (2) ภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าเป้า 11.1 พันล้านบาท จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าที่ลดลงเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าเป้าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ถือว่าเป็นบทบาทของกลไกนโยบายการคลังในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ (Automatic Stabilizer) ที่ทำให้ภาคเอกชนมีภาระภาษีที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือน เม.ย. 52 หดตัวลงต่อเนื่องที่ร้อยละ-17.7 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -17.5 ต่อปี ตามภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกหดตัวลงมาก และทำให้รายได้ประชาชนโดยรวมลดลง ประกอบกับปัจจัยความวุ่นวายทางเมืองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายลง
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเดือน เม.ย. 52 อยู่ที่ระดับ 65.1 ลดลงจากระดับ 66.0 ในเดือนก่อนและถือเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 88 เดือน นับตั้งแต่ ม.ค. 45 อันเป็นผลมาจากความกังวลต่อเสถียรภาพการเมืองประกอบกับราคาน้ำ มันที่เพิ่มขึ้น และการส่งออกที่หดตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ในอนาคต คาดว่าในเดือนต่อไปดัชนีความเชื่อมั่นจะได้รับผลกระทบทางลบจาก 1) GDP ใน Q1/52 ที่ สศช. จะประกาศติดลบต่อเนื่อง 2) ราคาน้ำมันที่เริ่มสูงขึ้น และ 3) สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่วนปัจจัยบวกคือ ภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นบ้าง
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย. 52 ขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -23.4 ต่อปี โดยมีสาเหตุหลัก คือ 1. การจัดงานมอเตอร์โชว์ในปีนี้ตรงกับช่วงที่ราคาน้ำมันถูก (ช่วงเดียวกันปีก่อนมีงานมอเตอร์โชว์เช่นกันแต่น้ำมันแพง) 2. การส่งเสริมการขายและการออกรถยนต์รุ่นใหม่ในงานมอเตอร์โชว์ทำให้ยอดจำหน่ายในเดือน เม.ย. 52 ขยายตัวได้ และ 3. ปัจจัยฐานต่ำเมื่อช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ซึ่งรัฐบาลได้ปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์รุ่นใหม่ E20 ทำให้ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสแรกของปี 51 ขยายตัวสูงกว่าปกติ ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อในเดือน เม.ย.51
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน เม.ย. 52 หดตัวลงร้อยละ-1.7 ต่อปี หดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวในระดับสูงมากถึงร้อยละ 51.3ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้บริโภคมีการเร่งโอนธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงเดือนมี.ค. 52 ก่อนหน้าที่ทางการจะประกาศขยายเวลาลดหย่อนภาษีในการโอนธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ออกไปจากปลายเดือนมี.ค. 52 อีก 1 ปี ประกอบกับช่วงเดือนเม.ย. 52มีวันหยุดยาวหลายวันติดต่อกัน รวมถึงความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลให้ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวลง
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ -39.7 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -44.5 ต่อปี ตามการการลงทุนในประเทศที่ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์น่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 52 ตามการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ(Mega Project) ที่จะเพิ่มอุปสงค์ต่อสินค้าในประเทศ และจะจูงใจให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำในช่วงครึ่งหลังปี 51
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 52 หดตัวที่ร้อยละ -1.5 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี ตามการผลิตที่ลดลงของผลผลิตสำคัญได้แก่ ข้าวนาปรัง และอ้อย จากปัจจัยฐานสูงเมื่อปีที่แล้ว ประกอบกับราคาของสินค้าเกษตรที่อยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้เกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากกังวลว่าราคาจะตกต่ำมากขึ้น
Economic Indicators: Next Week
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) เดือน เม.ย.52 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ62.0 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 69.4 เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงได้รับผลกระทบทางลบจากยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ยังคงไม่กระเตื้อง อันเป็นผลจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่หดตัวลง ผนวกกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงภายในประเทศช่วงสงกรานต์ จะส่งผลกระทบทางลบต่อความเชื่อมั่นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตในเดือน เม.ย. 52
Foreign Exchange Review
ค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของไทยส่วนใหญ่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินเยนจากปัจจัยภาวะความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นมาอย่างรวดเร็วหลังจากที่ (1) ทางการสหรัฐฯเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีก (Retail sales) ประจำเดือน เม.ย.52 ที่หดตัวที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือหดตัวร้อยละ -10.6 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับตัวขึ้นมาเป็นการขยายตัว (2)ตัวเลขตำแหน่งงานนอกภาคเกษตร (Non-farm payrolls) โดยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชนยังปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงแรงต่อเนื่อง โดยลดลงไปอีก 611,000 ตำแหน่งและ (3) การสำรวจของตลาดที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งมีขนาดใหญ่ เป็นอันดับที่ 2 ของโลก อาจหดตัวลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยตัวเลขที่ต่ำกว่าที่คาดเหล่านี้ได้ส่งสัญญาณว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาจจะต้องใช้เวลาอีกซักระยะ และได้ทำลายความหวังของตลาดต่อการฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ตลาดเกิด ความตระหนกและนำเงินออกจากตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคมาลงทุนในสกุลค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและเยนซึ่งตลาดมองว่ามีความปลอดภัยมากที่สุด (Safe Haven)
ในขณะที่ค่าเงินยูโรในช่วงสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจากปัจจัยข้างต้นและการประกาศตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(Industrial Production) ในเดือน มี.ค. 52 ของยุโรปที่หดตัวลงที่ร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือหดตัวร้อยละ -20.2 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยุโรปยังคงมีแนวโน้มถดถอยต่อเนื่องในไตรมาสที่ 1 จึงส่งผลความต้องการของเงินยูโรลดน้อยลงและอ่อนค่าลงตามลำดับ
ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์ในสัปดาห์นี้ อ่อนค่าลงเช่นกัน หลังจากที่ธนาคารกลางของอังกฤษ (Bank of England: BOE) ได้ปรับลดประมาณการณ์การขยายตัวของ GDP ในไตรมาส 2 จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ -3.8 ต่อปี เป็นหดตัวร้อยละ-4.5 ต่อปี อีกทั้ง BOE ได้ประกาศขยายโครงการมาตรการเพิ่มสภาพคล่อง (Quantitative easing) โดยการเพิ่มวงเงินที่จะซื้อสินทรัพย์ในสกุลปอนด์อีก 50 พันล้านปอนด์ฯ สะท้อนว่าเศรษฐกิจอังกฤษจะยังไม่ฟื้นจากภาวะถดถอยและส่งผลให้ ค่าเงินปอนด์สเตอลิงค์อ่อนค่าลงอีก
เงินเยนในช่วงสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินสกุลอื่นๆ จากความกังวลในภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก (risk aversion)ข้างต้นโดยตลาดมองว่าเงินสกุลเยนเป็นค่าเงินที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด
สกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่อ่อนค่าลงจากปัจจัย risk aversion เช่นกันนอกจากนั้น เงินสกุลภูมิภาคที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ ยังได้รับปัจจัยจากการขายทำกำไรของนักลงทุนหลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคได้ปรับตัวขึ้นมามากในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน
ในขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯและแข็งค่าขึ้นมามากเมื่อเทียบกับค่าเงินภูมิภาค โดยเฉพาะช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จากภาวะ risk appetite ที่ยังมีอยู่ ซึ่งเป็นแรงหนุนในการซื้อบาทเพื่อเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ซึ่งมากกว่าแรงซื้อเพื่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อื่นๆในภูมิภาค ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมามากเมื่อเทียบกับค่าเงินในสกุลอื่นๆ และส่งผลให้ดัชนี SET index ปรับตัวขึ้นผ่านระดับ 550 จุด
เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยน (ร้อยละ 6.1) ) ริงกิตมาเลเซีย(ร้อยละ 3.2) ยูโร (ร้อยละ 3.1) ดอลลาร์สิงคโปร์ (ร้อยละ 2.4) เปโซฟิลิปปินส์(ร้อยละ 1.0) ดอลลาร์ไต้หวัน (ร้อยละ 0.8) วอนเกาหลี (ร้อยละ 0.7) ดอลลาร์สหรัฐ(ร้อยละ 0.5) หยวน (ร้อยละ 0.5) ดอลลาร์ฮ่องกง (ร้อยละ 0.5) แต่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับ รูเปียห์อินโดนิเซีย (ร้อยละ -4.1) และปอนด์สเตอลิงค์ (ร้อยละ -3.6) ตามลำดับ
Foreign Exchange and Reserves
ในสัปดาห์ก่อน ณ วันที่ 8 พ.ค. 52 ทุนสำรองระหว่างประเทศ (Net Reserve) เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 122.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของ Gross Reserve จำนวน 1.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Forward Obligation จำนวน 0.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐโดยสาเหตุที่ทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการตีค่ามูลค่าทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐ (Valuation Gain) จากการที่ค่าเงิน EU และ JPY แข็งค่าขึ้นในช่วงสัปดาห์ดังกล่าวถึงร้อยละ 2.89 และ -0.53 ประกอบกับคาดว่า ธปท.เข้าดูแลเสถียรภาพค่าเงินในสภาวะเศรษฐกิจโลกมีความผันผวน อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า (8 พ.ค.52) ร้อยละ -0.81 จาก 35.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 34.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้
Major Trading Partners’ Economies: This Week
ตัวเลขตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเดือนเม.ย.52 ลดลง 539,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน แต่ถือเป็นการปรับลดลงที่น้อยที่สุดในรอบ 6 เดือน โดยชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ลดลงถึง 699,000 ตำแหน่ง (ตัวเลขปรับปรุง) โดยตำแหน่งงานในภาคเอกชนลดลงถึง 611,000 ตำแหน่ง ในขณะที่ตำแหน่งงานในภาครัฐและภาคการศึกษาและสาธารณสุขเพิ่มขึ้น 72,000 และ 15,000 ตำแหน่งตามลำดับ โดยนับตั้งแต่เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย ผู้จ้างงานปรับลดตำแหน่งงานนอกภาคเกษตรลงถึง 5.7 ล้านตำแหน่ง ส่งผลให้อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นที่ร้อยละ 8.9 สูงสุดในรอบ 26 ปี
ยอดค้าปลีกของสหรัฐฯเดือนเม.ย.52 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.4 จากเดือนก่อนหน้า (โดยถ้าไม่รวมสินค้ายานยนต์แล้ว จะหดตัวที่ร้อยละ -0.5 จากเดือนก่อนหน้า) เปรียบเทียบกับเดือนมี.ค.52 (ตัวเลขปรับปรุง) ที่หดตัวร้อยละ -1.3 จากเดือนก่อนหน้า โดยยอดขายน้ำมันเชื้อเพลิงหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -2.3 จากเดือนก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงมากในช่วงนั้น ในขณะที่ยอดขายสินค้ายานยนต์ขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของความพยายามเฮือกสุดท้ายในการอยู่รอดของอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐฯ
ผลผลิตอุตสาหกรรมของกลุ่มประเทศยูโรโซนเดือนมี.ค. 52 หดตัวลงร้อยละ -20.2 ต่อปี รุนแรงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงร้อยละ -19.1ต่อปี และถือเป็นการหดตัวลงรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นผลจากการหดตัวลงอย่างมากของผลผลิตสินค้าขั้นกลาง และผลผลิตสินค้าทุนและคงทน ส่งผลให้ผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาส 1 ปี 52 หดตัวร้อยละ -18.6 ต่อปี รุนแรงขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -8.6 ต่อปี
การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองของจีนถึงเดือนเม.ย.52ขยายตัวถึงร้อยละ 30.5 ต่อปี โดยการลงทุนสร้างรางและการขนส่งอื่นๆขยายตัวถึงร้อยละ 94.2 ต่อปี ผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการสร้างสาธารณูปโภคในเขตเมือง อย่างไรก็ตาม การลงทุนจากต่างชาติในช่วง4 เดือนแรกของปี 52 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี บ่งชี้ถึงความลังเลของนักลงทุนต่างชาติในภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย
มูลค่าการส่งออกสินค้าและนำเข้าสินค้าของจีนเดือน เม.ย. 52 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 โดยมูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -22.6 ต่อปีหดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -17.1 ต่อปี โดยในแง่มิติคู่ค้า การส่งออกไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น หดตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ-15.7 -23.6 และ -18.3 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -23.0 ต่อปี ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -25.1 ต่อปี โดยดุลการค้าจีนเดือน เม.ย. 52 ยังคงเกินดุลที่ 12.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุลที่ 18.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ยอดคำสั่งซื้อเครื่องจักรของภาคเอกชนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำภาวะการลงทุนของภาคเอกชน เดือน มี.ค.52 มียอดคำสั่งซื้อ 7.19 แสนล้านเยน หดตัวร้อยละ -24.9 ต่อปี ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการหดตัวรายเดือน พบว่าหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.3 จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนว่าบริษัทผลิตในญี่ปุ่นยังคงไม่เชื่อมั่นที่จะเพิ่มการผลิต โดยเฉพาะหมวดอุตสาหกรรมรถยนต์ และเทคโนโลยีที่เน้นผลิตเพื่อส่งออก
มูลค่าการส่งออกสินค้าของมาเลเซียเดือนมี.ค. 52 หดตัวร้อยละ-15.6 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -15.9 ต่อปีโดยในแง่มิติสินค้า พบว่า การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 39.0ของการส่งออกในเดือนมี.ค. 52 หดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี ส่วนการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ซึ่งได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ มีการหดตัวร้อยละ -21.6 -15.5 และ-26.7 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังจีนกลับมีการขยายตัวที่ร้อยละ 23.5 ต่อปี ตามอุปสงค์การนำเข้าสินค้าของจีนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนมี.ค. 52 หดตัวร้อยละ -28.7 ต่อปี หดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -27.3ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
มูลค่าการส่งออกสินค้าของมาเลเซียเดือนมี.ค. 52 หดตัวร้อยละ -15.6 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -15.9 ต่อปีโดยในแง่มิติสินค้า พบว่า การส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 39.0ของการส่งออกในเดือนมี.ค. 52 หดตัวร้อยละ -2.0 ต่อปี ส่วนการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ซึ่งได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ มีการหดตัวร้อยละ -21.6 -15.5 และ-26.7 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังจีนกลับมีการขยายตัวที่ร้อยละ 23.5 ต่อปี ตามอุปสงค์การนำเข้าสินค้าของจีนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนมี.ค. 52 หดตัวร้อยละ -28.7 ต่อปี หดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -27.3ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th