Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 พ.ค. 2552
1. การเปิดบริการรถไฟฟ้าส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ฝั่งธนบุรี
2. วิกฤตเศรษฐกิจบีบนายจ้างร้องขอหยุดเงินสมทบ
3. เศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาส1 ปี 52 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 14 ปี ที่ร้อยละ -2.5
- การขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อเชื่อมโยงตากสิน - วงเวียนใหญ่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ อาทิ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และบริษัท แสนสิริ ได้ทำกิจกรรมการตลาดของโครงการที่ขายอยู่เดิมและมีการเปิดตัวโครงการใหม่ ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการเปิดขายในพื้นที่ฝั่งธนบุรี 20 โครงการ มีจำนวน 1.1 หมื่นหน่วย ราคาเฉลี่ย 6.1 หมื่นบาทต่อตารางเมตร ยังเหลืออยู่อีกประมาณ 2.2 พันหน่วย นอกจากนี้ การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าส่วนต่อดังกล่าวคาดว่ามีผลให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นอีกร้อยละ 15
- สศค. วิเคราะห์ว่า การเปิดให้บริการรถไฟฟ้า BTS ช่วงต่อขยายตากสิน - วงเวียนใหญ่ถือเป็นตัวอย่างของการลงทุนภาครัฐที่มีผลต่อการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน (Crowding in Effect) โดยเฉพาะธุรกิจพัฒนาที่ดินตามถนนสายหลักที่มีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการ ดังนั้น การกระตุ้นการลงทุนภายในประเทศจึงต้องอาศัยนโยบายการลงทุนของรัฐบาลในช่วง 3 ปีข้างหน้า มูลค่า 1.43 ล้านล้านบาท โดยการจัดสรรเงินลงทุนในโครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่มูลค่ากว่า 571 พันล้านบาท ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในอนาคตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
- ประธานกลุ่มธุรกิจสำรองเลี้ยงชีพ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน(สมาคมบลจ.) เผยว่าสมาคมบลจ. ได้ร้องขอกับกระทรวงการคลังขอหยุดส่งเงินสมทบชั่วคราว หลังจากนายจ้างเจอผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ โดยล่าสุด ณ วันที่ 31 มี.ค.52 มีจำนวนนายจ้างที่แสดงความประสงค์จะขอหยุดส่งเงินเข้ากองทุนเป็นการชั่วคราวสูงถึง 229 นายจ้าง ทั้งในส่วนธุรกิจผลิตและขายส่ง เป็นต้น และในส่วนลูกจ้างที่อาจได้รับผลกระทบประมาณ 5 หมื่นราย ขอแสดงความประสงค์ขอหยุดส่งเงินเข้ากองทุนเป็นการชั่วคราวเพิ่มขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพถือเป็นการออมแบบสมัครใจ เพื่อให้สมาชิกวัยทำงานมีเงินออมเพื่อวัยเกษียณที่เพียงพอ ซึ่งในปัจจุบัน ณ เดือนมี.ค.52 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีเงินลงทุนกว่า 4.7 แสนล้านบาท มีสมาชิกกองทุน 2.0 ล้านคน และนายจ้างที่เข้าร่วมโครงการ 9.2 พันราย อย่างไรก็ตาม การขอระงับส่งเงินสมทบชั่วคราวนั้น ต้องเป็นการตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างภายใต้กฎหมายและระเบียบการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- สำนักงานสถิติยูโรสแตท เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP) ไตรมาสแรกของ 16 ประเทศยูโรโซน ติดลบถึงร้อยละ -2.5 มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ -2.2 ถือว่าต่ำสุดในรอบ 14 ปี หากพิจารณารวม 27 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป(EU) แล้ว GDP จะติดลบถึงร้อยละ 4.4 ซึ่งมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจเขตยูโรโซนเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยมาตั้งแต่ปี 51 ขณะที่กรรมาธิการยุโรปได้เตือนก่อนหน้านี้ว่าภาวะการว่างงานจะเป็นปัญหาที่ร้ายแรงที่สุดในยุโรปและอาจขยายตัวถึงร้อยละ 11.5 ในปีนี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่ร้อยละ -2.5 เป็นการคำนวณจากฐานรายไตรมาส (q-o-q) ซี่งเมื่อคิดเป็นอัตราขยายตัวรายปี (y-o-y) จะติดลบถึงร้อยละ -4.6 ต่อปี และ สศค. คาดว่าทั้งปี 52 เศรษฐกิจของยุโรปมีแนวโน้มจะหดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 52) อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยุโรปล่าสุดมีสัญญาณเป็นบวก โดยรายงานตัวเลขดัชนี Purchasing Manager’s Index (ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มกิจการภาคการผลิต
และบริการของกลุ่มประเทศยูโรโซน) บ่งชี้ว่า ดัชนีรอบเดือน มี.ค.52 อยู่ที่ 40.5 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.52 ซ่งอยู่ที่ 38.3 จุด ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 39.0 จุด
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th