โกลด์แมน แซ็คส์ และมอร์แกน แสตนลีย์ ยื่นเรื่องขอจ่ายคืนเงินช่วยเหลือจากทางการ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 21, 2009 12:26 —กระทรวงการคลัง

การยื่นข้อเสนอของ บริษัท โกลด์แมน แซ็คส์ และ บริษัท มอร์แกน แสตนลีย์ แก่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อจ่ายคืนเงินช่วยเหลือภายใต้โครงการ Troubled Asset Relief Program (TARP) ดังนี้

บริษัท โกลด์แมน แซ็คส์ และมอร์แกน แสตนลีย์ ได้เข้าเจรจาอย่างเป็นทางการกับธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อขอดำเนินการจ่ายคืนเงินช่วยเหลือภายใต้โครงการ TARP รวม 20,000 ล้านเหรียญสรอ. เพื่อส่งสัญญาณแก่นักลงทุนถึงความมั่นคงทางการเงินของบริษัท และเพื่อหลีกเลี่ยงเงื่อนไขของทางการสหรัฐฯ ที่ควบคุมการดำเนินงานของธนาคารภายหลังการเข้ารับเงินช่วยเหลือ โดยเฉพาะข้อจำกัดในส่วนของการจ่ายเงินตอบแทนผู้บริหารระดับสูง ทั้งนี้ จากการทดสอบความสามารถในการรักษาฐานะทางการเงิน (Stress Test) ของธนาคารขนาดใหญ่ 19 แห่ง โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา พบว่าธนาคารขนาดใหญ่ 9 แห่งมีระดับเงินทุนเพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาผลประกอบการขาดทุน และสามารถปล่อยกู้สินเชื่อได้ในสภาวะที่เศรษฐกิจยังซบเซา โดยผลการทดสอบระบุว่า โกลด์แมน แซ็คส์ เป็นหนึ่งในกลุ่มธนาคารที่มีเงินทุนเพียงพอ ในขณะที่ มอร์แกน แสตนลีย์ ยังคงต้องระดมเงินทุนเพิ่มเติมอีก 1,800 ล้านเหรียญสรอ. ซึ่งมอร์แกน แสตนลีย์ ได้เริ่มระดมทุนผ่านทางการออกหุ้นเพิ่มเติมแล้ว

บริษัท โกลด์แมน แซ็คส์ และมอร์แกน แสตนลีย์ ได้รับเงินช่วยเหลือจากทางการบริษัทละ 10,000 ล้านเหรียญสรอ. เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ในช่วงที่ตลาดการเงินสหรัฐฯ กำลังประสบวิกฤตอย่างหนัก ภายหลังการประกาศล้มละลายของบริษัทเลห์แมน บราเธอร์ส

ธนาคารที่ต้องจ่ายคืนเงินช่วยเหลือจะต้องระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อทดแทนเงินส่วนที่จ่ายคืนแก่ทางการ ดดยปราศจากการค้ำประกันจากบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐฯ (FDIC) อนึ่ง หากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติอนุมัติข้อเสนอข้างต้น จะส่งผลให้โกลด์แมน แซ็คส์ และมอร์แกน แสตนลีย์ เป็นธนาคารขนาดใหญ่สองรายแรกที่จ่ายคืนเงินช่วยเหลือภายใต้โครงการTARP อย่างไรก็ตาม ธนาคารเล็กกว่า 12 แห่ง ได้จ่ายคืนเงินช่วยเหลือแล้ว รวม 1,200 ล้านเหรียญสรอ. จากธนาคารทั้งหมดกว่า 570 แห่งที่เข้ารับเงินช่วยเหลือจากธนาคารต่างๆ รวม 25,000 ล้านเหรียญสรอ. ภายในปี 2553 และมีนโยบายที่จะนำเงินจ่ายคืนส่วนดังกล่าว อัดฉีดให้กับสถาบันการเงินอื่นๆ ที่ต้องการต่อไป

ทั้งนี้ สำนักงานที่ปรึกษาฯ มีความเห็นว่า ถึงแม้การจ่ายคืนเงินช่วยเหลือของธนาคารทั้งสองแห่งจะเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยฟื้นฟูความมั่นใจต่อตลาดการเงินให้กับนักลงทุน แต่ข้อได้เปรียบของโกลด์แมน แซ็คส์ และมอร์แกน แสตนลีย์ ที่ไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการจำกัดเงินตอบแทนของผู้บริหารระดับสูงจะดึงดูดให้ผู้บริหารของธนาคารอื่นซึ่งเข้ารับเงินช่วยเหลือจากทางการและอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กล่าว ตัดสินใจย้ายมาทำงานธนาคารทั้งสองแห่ง ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของธนาคารอืนๆ ต่อไป

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน

ที่มา : Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ