รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 25, 2009 10:57 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 พ.ค. 2552

SUMMARY:

1. รัฐบาลเตรียมพิจารณาแผนพัฒนาตลาดทุนไทยช่วงปี 2553-2555

2. ภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งร้อยละ 3.2 จากช่วงต้นปี

3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น

HIGHLIGHT:

1. รัฐบาลเตรียมพิจารณาแผนพัฒนาตลาดทุนไทยช่วงปี 2553-2555
  • รัฐบาลเตรียมพิจารณานโยบายการพัฒนายกระดับตลาดทุนไทยช่วงปี 2553-2555 ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยภายในเดือน ก.ค. 52 ประกอบด้วยแผน 8 ด้าน ได้แก่ (1) ยกเลิกการผูกขาดและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้น (2) เปิดเสรี เพิ่มประสิทธิภาพสถาบันตัวกลาง เช่น บริษัทหลักทรัพย์ (3) ปฏิรูประบบกฎหมายการพัฒนาตลาดทุน (4) ปรับปรุงระบบภาษีเพื่อการพัฒนาตลาดทุน (5) พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (6) จัดตั้งระบบการออมเพื่อการชราภาพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) (7) สนับสนุนวัฒนธรรมการลงทุนระยะยาว และ (8) พัฒนาตลาดพันธบัตร เพื่อสนับสนุนภาครัฐและเอกชนที่จำเป็นต้องมีการระดมทุนและการลงทุนอีกมากในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปัจจุบัน มูลค่าตลาดทุนไทย (Market Capitalization) ได้ปรับตัวลดลงมากอยู่ที่ 3.9 ล้านล้านบาท จากกว่า 6.5 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 50 และมีปริมาณการซื้อ-ขาย (Daily turnover) ในปี 52 ลดลงเพียง 1 หมื่นล้านบาท เทียบกับ 1.7 หมื่นล้านในปี 50 เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกและปัญหาความเชื่อมั่นภายในประเทศ ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางการพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อให้สามารถเป็นแหล่งระดมทุนที่มีประสิทธิภาพ และเป็นทางเลือกการระดมทุมควบคู่กับระบบธนาคารพาณิชย์ต่อไป
2. ภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งร้อยละ 3.2 จากช่วงต้นปี
  • สถาบันวิจัยของธนาคารพาณิชย์เปิดเผยว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 20 พ.ค. 52 ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นไปถึงกว่าร้อยละ 3.2 ถือเป็นอุสรรคในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยในตลาดโลก โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อภาพรวมของการปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาจากภาวะเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทัพย์ และแรงขายเงินเหรียญสหรัฐของผู้ส่งออก หลังจากที่ไทยมีการเกินดุลการค้าในระดับสูง ทั้งนี้ ประเมินว่าหลังจากที่ ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ การเก็งกำไรค่าเงินบาทจะเกิดขึ้นในช่วงสั้นและอาจจะส่งผลกดดันทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นที่ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับค่าเงินประเทศคู่ค่าหลัก 12 สกุลเงิน ณ วันที่ 22 พ.ค. 52 แข็งค่าขึ้นจากค่าเงินบาท ณ วันที่ 1 ม.ค. 52 ที่ร้อยละ 1.37 ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเทียบกับประเทศคู่ค้านี้มีส่วนที่จะกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยที่กำลังประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกล่าสุดในเดือน เม.ย.52 หดตัวในระดับสูงถึงร้อยละ -26.1 ต่อปี
3. เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เปิดเผยว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากการหดตัวของการส่งออกและภาคการผลิตเริ่มชะลอตัวการหดตัวลง และหลังจากไตรมาสที่ 1 ของปี 52 เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวถึงร้อยละ 4.0 เนื่องจากอุปสงค์สินค้าส่งออกสำคัญของญี่ปุ่นในตลาดโลกที่ลดลง อย่างไรก็ดี สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมายังขาดความชัดเจนว่าจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นกำลังเผชิญความท้าทายของค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐกำลังมีสัญญาณดีขึ้นจากดัชนี ISM Manufacturing Index ณ เดือน เม.ย. 52 ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 40 เป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน และเศรษฐกิจยุโรปมีสัญญาณเป็นบวกเช่นกัน โดยดัชนี Purchasing Manager’s Index เดือน มี.ค. 52 อยู่ที่ 40.5 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ. 52 ซึ่งอยู่ที่ 38.3 จุด ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 52 ต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ